กรุงเทพฯ 29 มิ.ย.-ครม. เคาะแล้วมาตรการเยียวยาลูกจ้าง-ผู้ประกอบการ ใน 6 จังหวัดพื้นที่ควบคุมเข้มงวดสูงสุด เป็นเวลา 1 เดือน
ที่ประชุม ครม. วันนี้ หารือมาตรการเยียวยา หลังรัฐบาลออกมาตรการเข้มงวดในพื้นที่ 10 จังหวัดควบคุมเข้มงวดสูงสุด โดยเฉพาะ 6 จังหวัด คือ กทม. และปริมณฑล ที่สั่งปิดแคมป์คนงานเป็นเวลา 1 เดือน และงดการรับประทานอาหารในร้าน ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น
ที่สุด ครม. มีมติช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบใน 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ส่วนกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจการศิลปะความบันเทิง นันทนาการ และกิจกรรมบริการการด้านอื่นๆ ตามที่สํานักงานประกันสังคมกําหนด เช่น การซ่อมคอมพิวเตอร์ ซ่อมมือถือ ซ่อมเครื่องใช้ในครัวเรือน ฟิตเนส การแต่งผม ดูแลความงาม ซักรีด โดยมีระยะเวลาช่วยเหลือเป็นเวลา 1 เดือน
สำหรับรายละเอียดการเยียวยา มาดูกลุ่มแรกกันก่อน คือ กลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคม อนุมัติเงินเพิ่มเติมให้กับกลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบประกันตนตามมาตรา 33 ที่ถือสัญชาติไทย จะได้รับงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2,000 บาทต่อคน เพิ่มเติมช่วยเหลือจากปกติที่ประกันสังคมจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าจ้าง ตลอดระยะเวลา 1 เดือน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้รับการช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง จำนวน 3,000 บาทต่อคน สูงสุดไม่เกิน 200 คน
ส่วนกลุ่มที่อยู่นอกระบบประกันสังคม สำหรับผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสํานักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจํานวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือ ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน
กรณีผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียน ผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท ส่วนกรณีที่เป็นผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่ง ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสํานักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สําหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ลงทะเบียนกับสํานักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคมนี้เช่นกัน เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือ
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย ที่ประชุม ครม. เห็นชอบขยายเวลาโครงการสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึง รวม 3 โครงการ โดยจะขยายเวลาถึง 30 ธันวาคมนี้ จากเดิมสิ้นสุด วันที่ 30 มิถุนายนนี้ 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสินเชื่อรายย่อย Extra Cash ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 2.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เอสเอ็มอีท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องของธนาคารออมสิน ซึ่งปัจจุบันยังมีวงเงินคงเหลือ 3,800 ล้านบาท และ 3.โครงการเอสเอ็มอีมีที่มีเงินธุรกิจท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลือ 6,300 ล้านบาท
ส่วนใครที่วางแผนจะหยุดยาวช่วง 24-28 กรกฎาคมนี้ จากที่ ครม. เคยกำหนดให้วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม เป็นวันหยุดพิเศษต่อเนื่อง ล่าสุด ครม. มีมติ ยกเลิก วันที่ 27 กรกฎาคม เป็นวันหยุดพิเศษ โดยให้เหตุผลว่า ได้พิจารณาและปรับตามสถานการณ์โควิด-19 ที่ขอความร่วมมือให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด.-สำนักข่าวไทย