กรุงเทพฯ 24 ก.ย.- สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เผยโรงพยาบาลหลายแห่งถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม เหตุขาดทุน หลังจากที่ถูกปรับลดงบค่ารักษาในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงลงถึง 40% โดยลดลงจาก 12,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW เหลือเพียง 7,200 บาทต่อหน่วย และไม่ได้ปรับค่าตอบแทนมากว่า 5 ปี เสนอทบทวนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
นายแพทย์ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2565-2566 สำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับลดค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคที่มีค่า Adjusted RW มากกว่า 2 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทั้งสองปี ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต้องเผชิญกับภาระขาดทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้จ่ายไปล่วงหน้าแล้ว รวมถึงภาษีที่ต้องจ่ายตามประมาณการรายได้ ทำให้การปรับลดงบประมาณนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะการเงินของโรงพยาบาล
แม้ในปี 2565 สำนักงานประกันสังคมจะปรับเพิ่มค่าหัวเหมาจ่ายจาก 1,640 บาท เป็น 1,808 บาท แต่สำหรับกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังกลับไม่มีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนมาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งส่งผลให้จำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับระบบประกันสังคมลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมลดลงจาก 120 แห่ง เหลือเพียง 93 แห่งในปัจจุบัน แม้จะมีโรงพยาบาลใหม่เข้าร่วมบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ไม่สามารถรองรับผู้ประกันตนได้มากพอ
นายแพทย์ไพบูลย์ กล่าวว่า หากสถานการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไป จะส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคมหลายแห่งอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลเหล่านี้ตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับประกันสังคม ส่งผลให้จำนวนโรงพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตนลดลง ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลเอกชนลดลง จะสร้างภาระให้กับโรงพยาบาลรัฐที่ต้องรองรับผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น
สมาคมโรงพยาบาลเอกชนจึงเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาทบทวนอัตราค่าตอบแทนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และปรับระบบการจ่ายค่ารักษาสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเสนอให้กำหนดอัตราขั้นต่ำที่ 15,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน และลดภาระทางการเงิน -511 .-สำนักข่าวไทย