20 พ.ค. – สายไหมต้องรอดพร้อมญาติผู้เสียชีวิตตกดขื่อนคอหักเดินทางร้องกระทรวงสาธารณสุข หลังหมอโรงพยาบาลแรกวินิจฉัยว่าไม่เป็นอะไร สุดท้ายมาโรงพยาบาลที่ 2 สแกนเจอว่าคอหักจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา จนเกิดความสงสัยว่าหมอเช็คละเอียดหรือไม่ และการรับการรักษาตามสิทธิประกันสังคมไม่เต็มที่เท่าที่ควร
จากที่มีญาติของผู้เสียชีวิตได้ไปร้องกับนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด ว่าอาของตน เกิดอุบัติเหตุตกเขื่อนจนเป็นเหตุให้คอหัก และเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น วันนี้ได้เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อร้องขอความเป็นธรรมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากในวันเกิดเหตุ กู้ภัยนำส่ง รพ.เอกชนตามสิทธิประกันสังคม แต่หมอวินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นแค่บาดเจ็บธรรมดา มีแค่แผลถลอกที่ลิ้น ให้หยุดพัก 1 วัน กินยาแก้ปวดก็หาย ก่อนโทรตามญาติให้มารับผู้ป่วยกลับบ้าน จนทำให้อาการบาดเจ็บ (คอหัก) ลุกลามจนเสียชีวิตได้ยื่นหนังสือกับทาง นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข
นายกองตรี ธนกฤต ระบุว่า ได้รับรายงานว่าผู้ป่วยตกจากที่สูงเมื่อวันที่ 21 มี.ค. และกู้ภัยได้นำตัวส่ง รพ. ทาง รพ.ก็ดูอาการตั้งแต่ 23.00 น. จนเกือบ 05.00 น. สังเกตอาการแล้วผู้ป่วยยังสามารถดูแลตัวเองได้ มีการตอบสนอง พูดคุยได้ดี จึงได้โทรให้ญาติมารับกลับ พอญาติมารับกลับไปดูแลต่อที่สมุทรปราการ ปรากฏอาการภายหลังว่ามีการอ่อนแรง จึงมีการส่งโรงพยาบาลที่ 2 ในการตรวจรักษา จากการทำ CT Scan พบว่ากระดูกคอหัก ทับเส้นประสาทจนทำให้ไม่สามารถขยับตัวได้ โรงพยาบาลที่ 2 จึงได้ประสานกับทางโรงพยาบาลแรกที่มีสิทธิ์ตามประกันสังคม จากนั้นก็มีการรักษาจนถึงวันที่ 25 มี.ค. ผู้ป่วยได้เสียชีวิตลง จากนี้จะต้องมีการไปดูว่ามีการรักษาไปตามวิชาชีพหรือไม่ ถ้าไม่อย่างนั้นถือว่ามีความผิด และจะต้องส่งเรื่องให้ทางแพทยสภาวินิจฉัย
ทางญาติของผู้เสียชีวิตยังกล่าวเสริมอีกว่า ในระหว่างที่กำลังรักษาตัวที่โรงพยาบาลแรก คนไข้ร้องขอให้แอดมิดดูอาการเพราะแขนขาไม่มีแรง เกิดอาการชา ขนาดเจ้าหน้าที่เวชระเบียนและเจ้าหน้าที่เวรเปลยังบอกว่า อาของตนนอนไม่ขยับตัวตั้งแต่เข้าไปถึงโรงพยาบาล จนออกจากโรงพยาบาล ไม่มีการลุกไปเข้าห้องน้ำแม้แต่ครั้งเดียว แล้วตอนที่โทรเรียกให้ญาติไปรับกลับบ้านก็ต้องหิ้วปีกออกมา จึงอยากทราบว่าโรงพยาบาลแรกมีการเช็คอย่างละเอียดหรือไม่
ซึ่งในส่วนนี้นายกองตรีธนกฤต ระบุว่า เรื่องนี้จะต้องมีการเรียกสอบเจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัยเพิ่มเติมด้วย ถึงการช่วยเหลือหน้างานว่าผู้ป่วยมีอาการยังไง เพราะจากที่ดูในรูปถ่ายแล้วผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แม้แต่การประคองตัวลุกขึ้นนั่ง ดูภาพถ่ายในที่เกิดเหตุขณะทีมกู้ชีพเข้าช่วยเหลือ ก็ไม่ตรงกับข้อมูลที่ทางโรงพยาบาลรายงาน เนื่องจากภาพถ่ายเห็นได้ชัดว่าผู้ตายนอนราบในลักษณะไม่มีแรง เจ้าหน้าที่ต้องประคองนั่ง ขณะนำขึ้นเปลยังต้องเก็บมือไว้ในกางเกง เพราะแขนอ่อนแรง ต่างกับที่โรงพยาบาลรายงานว่าผู้ตายช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีการเชิญมาสอบก่อนแล้วค่อยนำมาสรุปผล ถ้าเกิดว่าบกพร่อง หรือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ส่วนไหน ที่อาจทำการโดยประมาท ก็ไปว่ากันในเรื่องคดีความ ในการเยียวยาก็อยู่ในสิทธิ์ของประกันสังคม สูงสุด 400,000 บาท
นอกจากนี้ ทางญาติของผู้เสียชีวิต ยังฝากถึงประกันสังคมว่าอยากให้บริการให้เต็มที่เหมือนที่วางโครงการไว้ และฝากถึงคนที่อยู่หน้างานไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือใครก็ตาม อยากให้ทำอย่างเต็มที่ อย่าแยกว่าเงินสด กับประกันสังคม เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด ซึ่งในวันที่เกิดเหตุตอนกำลังออกจาก รพ.แรก อาบอกว่าให้พาไปที่โรงพยาบาลไหนก็ได้จ่ายแพงแค่ไหนก็ได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองชาไปทั้งตัวอยากได้รับการรักษาแล้วในตอนนี้
นายกองตรีธนกฤต ทิ้งท้ายไว้ว่า จะเริ่มเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบเลยตั้งแต่วันนี้ และถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถนำส่ง รพ.ใกล้บ้านได้เลย แล้วค่อยรีเฟอร์ตามสิทธิ ยังไงก็ต้องรักษาให้รอดก่อน กฎของแพทยสภาก็เขียนไว้ว่ายังไงก็ต้องรักษาคนไข้ให้รอด. -420-สำนักข่าวไทย