รร.สุโกศล 11 พ.ค.-คณบดี 3 สถาบันแพทย์ ศิริราช-จุฬาฯ-รามาฯ วอนประชาชนเข้าใจสถานการณ์โควิด แจงรายงานรับภาระงานแพทย์ล้นมือ แนวโน้มอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ใน 4 ของผู้ป่วยหนัก หรือประมาณ 80-100 คน พร้อมรับอัตราการติดเชื้อรุนแรง 15 เท่า ย้ำการฉีดวัคซีนเป็นอาวุธหยุดโรค
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาเรื่องผ่าวัคซีนโควิด -19 กับ 3สถาบันการแพทย์ ว่า ขณะนี้อยากให้ประชาชนเข้าใจในสถานการณ์ของโควิด และ หันมาฉีดวัคซีนโควิด เพื่อป้องกัน ลดความรุนแรงของโรค เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ป่วยเฉลี่ย 1,000 คนต่อวัน และจำนวนผู้ป่วยหนักก็เพื่มมากขึ้น ซึ่งหากไม่แก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางด้วยการลดจำนวนผู้ป่วย จะหวังให้แก้ปัญหาผู้ป่วยแบบปลายทางด้วยการรักษาอย่างเดียวคงไม่ได้ หากทุกพื้นที่ยังพบผู้ป่วยอยู่ จำนวนผู้ป่วยในรพ.จะลดลงได้อย่างไร
ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ป่วยโควิด ใน 3 สถาบัน พบเฉลี่ยที่ละ 150-200 คน แต่ภาพรวมประเทศพบ ผู้ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจ 400 คน และ ร้อยละ 25 มีแนวโน้มรุนแรง ในจำนวน 1 ใน 4 มีโอกาสเสียชีวิต หากให้วิเคราะห์สถานการณ์การเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยส่วนหนึ่งมาจากการ์ดตก คนหนุ่มสาวไม่ได้ป้องกันตนเอง ยังคงมีการสังรรค์ และพบ ภาวะโรคอ้วน หรือมี BMI30 เสี่ยงป่วยรุนแรงและชีวิตและพบการติดเชื้อในครอบครัว ซึ่งการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อ และลดภาระงานของแพทย์ ที่ขณะนี้ ภาระงานเต็มไม้เต็มมือ และ กำลังจะล้นไม้ล้นมือ ที่ศิริราชมีการขยายห้องผู้ป่วยวิกฤตออกมากเป็น 3 เท่าแล้ว พร้อมย้ำทุกคนต้องช่วยกันด้วยการฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้จำนวนผู้ป่วยล้นรพ.
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า ยอมรับว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิดในการระบาดรอบนี้จากโควิดสายพันธุ์อังกฤษ รุนแรงมากขึ้น อัตราการติดเชื้อป่วยเพิ่มขึ้น 15 เท่า ที่รพ.รามาจักรีนฤบดินทร์ มีการรับผู้ป่วย 140 คน เป็นผู้ป่วย 32 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 4 คน และ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเสียชีวิตทุกวัน และจากจำนวนผู้ป่วยหนัก 400 คน ในจำนวน. 80-100 คน มีโอกาสเสียชีวิต จากเดิมอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ ร้อยละ 0.2-0.3 และปัจจุบันอยู่ที่ ร้อยละ 0.6-1 ขณะนี้พบการระบาดใน กทม.มากที่สุด การควบคุมโรคยังทำได้ช้า ดังนั้นต้องเร่งคัดกรองให้เร็ว แยกผู้ป่วยและ นำเข้ารักษาให้เร็วที่สุด หากประเมินตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อใน 4-5 วันที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อไม่พุ่งขึ้น เป็นผลพวงมาจากมาตรการใน 10-14 วัน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจะยังเพิ่มขึ้นอยู่ดี เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่มาก
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางรพ.จุฬาลงกรณ์ รับรักษาผู้ป่วยไปแล้ว 1000 คน และอยู่ในฮอสพิเทล 200 คน ทั้งนี้จาการรักษา พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อลงปอดเร็วมากขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มเตียงผู้ป่วยในห้องไอซียูมากขึ้น หากช่วยกันป้องกันไม่เพิ่มจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ต้นทาง และช่วยกันฉีดวัคซีนก็จะเป็นการติดอาวุธ ป้องกันตัวเอง คนในครอบครัว ทำให้อัตราการป่วยและติดเชื้อค่อยๆ ลดลง .-สำนักข่าวไทย