หนองคาย 22 มี.ค.- ทีมนักวิจัยศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อ.เมือง จ.นครราชสีมา ตรวจพบพยาธิตัวตืด ยาว 18 เมตร จากผู้ป่วยชายอายุ 67 ปีซึ่งมีพฤติกรรมชอบกินเนื้อวัวดิบ ลาบ ก้อย ซอยห่าง สะสมกว่า 47 ปี นับเป็นการค้นพบพยาธิตัวตืดลำตัวยาวที่สุดในไทยครั้งแรกในรอบ 50 ปี
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ชวัลญ์ญา รัตนพิทูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยโรคปรสิต เผยว่าพยาธิตัวตืดเป็นโรคประจำท้องถิ่นที่พบได้ในกลุ่มชาวบ้านที่ชอบรับประทานเนื้อดิบ ทั้งเนื้อวัวและเนื้อหมู ที่มีไข่หรือตัวอ่อนพยาธิสะสมเจริญเติบโตอยู่ในเนื้อ เมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกาย พยาธิจะเกาะตัวอยู่ผนังลำไส้และเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อโตเต็มวัยจะหลุดออกมาเป็นปล้องๆ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยเมื่อยล้าทั่ว ๆ ไป ซึ่งพยาธิตัวตืดสามารถเจริญเติบโตอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นาน 25-30 ปี โดยผู้ป่วยรายนี้มีการตรวจตัวอย่างจากอุจจาระ เจอไข่อ่อน จึงรักษาโดยให้ยาถ่ายพยาธิ กระทั่งขับถ่ายออกมาทั้งหมด
ขณะที่ น.ส.ภรณ์พิชชา เพชรดี นักศึกษาปริญญาเอก บอกว่าคุณตาวัย 67 ปี ชอบรับประทานเนื้อวัวดิบ จำพวกลาบก้อยอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง มาตั้งแต่อายุ 20 ปี ไม่เคยตรวจรักษา เมื่อ 5 ปีที่แล้วเจอปล้องพยาธิตัวตืดหลุดออกมาอยู่เรื่อยๆ และเข้าใจว่าเมื่อรับประทานไข่มดแดง หรือตัวมดแดง จะช่วยรักษาโรคพยาธิ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดๆ เท่ากับว่าพยาธิตัวตืด 18 เมตร เจริญเติบโตสะสมอยู่ในลำไส้ของคุณตามายาวนานกว่า 47 ปี
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัธคพัชฬ รัตนพิทูลย์ นักวิจัยเผยว่า เท่าที่เคยศึกษาจากงานวิจัยพบว่า พยาธิตัวตืดยาว 18 เมตร ถือว่ายาวที่สุดในไทย ตั้งแต่เคยมีการตรวจพบยาว 23 เมตร เมื่อ 50 ปีก่อน ปกติทั่วไปตรวจพบขนาดความยาวแค่ 2-3 เมตร หลังจากนี้จะนำไปตรวจวิเคราะห์สารโมเลกุล และเก็บรักษาไว้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาในอนาคตต่อไป.-สำนักข่าวไทย