สธ. 9 มี.ค.-สถานการณ์ติดเชื้อโควิดทั่วโลกหลังรับวัคซีน จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงมากต่อเนื่อง แต่ยังต้องย้ำมาตรการสาธารณสุข ส่วนไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 60 ราย ชวนใช้แอปฯ “หมอพร้อม” เตือนฉีดวัคซีน
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด19 ประจำวันนี้ (9 มี.ค.) ว่าสถานการณ์ทั่วโลกหลังฉีดวัคซีนมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงมาก เช่น สหรัฐ ผู้ติดเชื้อจากหลักแสนเหลือหลักหมื่นคน ผู้เสียชีวิตก็เหลือหลักพันแล้ว และอีกหลายประเทศก็ลดลงมากอาการติดเชื้อก็ลดความรุนแรงลง ส่วนประเทศเพื่อนบ้านไทยฉีดแล้วมากกว่า 4 ล้านโดส สถานการณ์การติดเชื้อโควิดก็ลดลงมาก เช่น ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ฉีด ตัวเลขผู้เสียชีวิตคงที่หลังฉีดวัคซีน ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแค่หลักหน่วยและหลักสิบ ส่วนเมียนมา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ผู้ติดเชื้อก็ลดลง
สำหรับไทยวันนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 60 ราย มากจากต่างประเทศ 17 ราย จากการคัดกรองเชิงรุก 21 รายและในระบบริการสาธารณสุข 22 ราย มีอาการหนักใส่เครื่องช่วย 9 ราย หายป่วยแล้ว 97 เปอร์เซนต์ ผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ ผู้เสียชีวิตในระลอกนี้ยังอยู่ที่ 25 คน และแม้มีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้นแต่ขอให้ประชาชนคงมาตรการเว้นระยะห่างใส่หน้ากาก ล้างมือ เพื่อไม่ให้มีการระบาดอีก โดยรายงานการพบผู้ติดเชื้อยังพบใน 8 จังหวัดเดิม จำนวนผู้ป่วยลดต่อเนื่อง โดยกรุงเทพฯวันนี้ยืนยัน 1 รายในรายตำรวจที่ทราบกันก่อนหน้านี้
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีของผู้ติดเชื้อนครนายกเชื่อมโยงปราจีนบุรี เป็น คู่สามีภรรยา เปิดร้านอาหารใน จ.ปราจีนบุรี ลูกสาวเป็นบุคคลากรทางการแพทย์ที่ จ.นครนายก ลุงกับป้า ต้องซื้อของที่ตลาดที่ปทุมธานี ซึ่งมีความเสี่ยงพบผู้ติดเชื้อ เมื่อมีอาการครั่นเนื้อตัว ปวดเมื่อย ปวดหัว จึงไปตรวจจนยืนยันว่าติดเชื้อ หลังสอบสวนโรค พบมีการไปช่วยลูกขายอาหารที่โรงงานที่ปราจีนบุรีหลายวัน สธ.ได้ตรวจผู้สัมผัสเพิ่มทั้งที่บ้านและรพ.และสุ่มตรวจพนักงานใน โรงงานอีกกว่าพันคนและร้าน อาหารที่ลุงป้าไปช่วยขาย เบื้องต้นตรวจไม่พบเชื้อ รอตรวจรอบต่อไป
สำหรับการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ.-8 มี.ค.ที่ผ่านมา ฉีดแล้ว 2,404 คน รวม 29,900 ราย มีอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งพบได้ 1 ใน 3 ของผู้รับวัคซีน ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เป็นอาการข้างเคียงจากการฉีด ปวดบวม คลื่นไส้นิดๆ อาเจียน แต่ถือเป็นอาการไม่รุนแรง ส่วนอาการที่ต้องระวังมากแต่ยังไม่พบ คืออาการข้างเคียงรุนแรง มีผื่นขึ้น อาเจียน ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะมาก เป็นอาการข้างเคียงที่จะต้องมีการสอบสวนโรค มีอาการแพ้รุนแรง
ทั้งนี้ จากเมื่อวานถึงวันนี้ไม่พบรายงานเหตุไม่พึงประสงค์ ที่พบ 1 รายใหม่ใน 5 รายพิจารณาแล้วว่า มีส่วนเกี่ยวกับวัคซีนแต่ไม่รุนแรง เป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ไม่รุนแรง
ส่วนวัคซีนพาสปอร์ต คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ พิจารณาวัคซีนพาสปอร์ตเป็นเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน เมื่อได้รับ 2 ครั้งครบแล้ว ก็จะขอใบรับรองว่าได้ฉีดวัคซีนครบ ใช้ในการเดินทางระหว่างประเทศได้ จะมีการระบุยี่ห้อวัคซีนและผู้รับวัคซีนสามารถขอเอกสารวัคซีนเล่มเหลืองจากรพ.ของรัฐได้ มีผู้ลงรายชื่อรับรองและต้องได้รับรองของประเทศนั้นๆ ที่จะเดินทางด้วย โดยหลังรับวัคซีนเข็มแรก 2 สัปดาห์โดยประมาณจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น ส่วนแอสตราเซเนก้า ที่จะเริ่มฉีดให้ผู้อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ก็จะมีการคัดกรองประวัติเช่นเดียวกับซิโนแวค
ด้าน ผศ.(พิเศษ) นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ว่าอยู่ในระบบไลน์ถ้าเข้าไปเป็นเพื่อนก็จะให้ข้อมูลสุขภาพต่างๆและมีฟังก์ชั่นในการรับวัคซีนของประชาชนถ้าเป็นประชาชนในกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรกก็จะมี รายชื่อในระบบหมอพร้อมแล้ว ประชาชนเช็คได้และหากยินยอมรับวัคซีนก็สามารถเลือกวันเวลา รพ.ใกล้บ้านในการรับวัคซีน และถ้าได้รับวัคซีนแล้วแอปฯจะติดตามอาการข้างเคียงที่กำหนด และมีระบบนัดรับวัคซีนเข็ม 2 ด้วย การรับวัคซีนโควิด-19 ต้องรับ 2 เข็มให้ครบถ้วนเพื่อไม่ให้ประสิทธิภาพลดลง
สำหรัรบการรับวัคซีน จะแบ่งเป็น กลุ่มเสี่ยง กลุ่มทำงาน และประชาชนทั่วไป ซึ่งรอบประชาชนทั่วไป ถ้าไม่พบชื่อก็เช้าไปฉีดใน รพ.รัฐได้เลย ตามแผนภายในสิ้นปีนี้ จะมีผู้ฉีดวัคซีน 60-70 เปอร์เซนต์ของประชากรในประเทศ
ทั้งนี้ในการแถลงข่าวยังย้ำให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งจะแบ่งการฉีดเป็น 2 ระยะ1 มี.ค.-พ.ค.2ล้านโดส มิ.ย.-ธ.ค. 61 ล้านโดส .-สำนักข่าวไทย