ทำเนียบฯ 25 ก.พ.- ศบค. เผยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 72 ราย จับตานักกีฬาฟุตซอลติดเชื้อ 7 ราย เตรียมเปิดตลาดกลางกุ้ง 1 มี.ค. พร้อมเข้มชายแดน ระวังผู้อพยพจากเมียวดี
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 113,094,441 ราย และเสียชีวิต 2,508,811 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 114 ซึ่งทั่วโลกแม้ผู้ติดเชื้อลดลง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังสูง ดังนั้นต้องติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย อย่าง อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมียนมา เกาหลีใต้ และกัมพูชา ที่ยังมีผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 72 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 43 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 20 ราย และเดินทางจากต่างประเทศเข้าสถานกักกันจากรัฐจัดให้ 9 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 25,764 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม และผู้เสียชีวิตสะสม 83 รายคงเดิม
พญ.อภิสมัย กล่าวว่ายอดผู้ติดเชื้อในประเทศเมื่อเทียบเป็นรายสัปดาห์ พบผู้ติดเชื้อ 13 จังหวัด (21-25 ก.พ.) จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 3 วันที่ผ่านมา 11 จังหวัด จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายล่าสุดเมื่อ 4-5 วันก่อน 2 จังหวัด จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายล่าสุด 6-7 วันก่อน 1 จังหวัด จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายล่าสุดนานเกินกว่า 7 วัน 49 จังหวัด และจังหวัดที่ไม่เคยมีผู้ติดเชื้อ 14 จังหวัด
“สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือพื้นที่ติดต่อกันระหว่างจังหวัดสมุทรสาครกลับกรุงเทพมหานคร หลังพบนักกีฬาฟุตซอล ติดเชื้อ 7 ราย จาก 11 ราย โดย 2 ราย เป็นคน กทม. ซึ่งนักเรียนที่เล่นฟุตซอลนี้มีการข้ามพื้นที่ไปเล่นในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครแล้วกลับมาในโรงเรียนพื้นที่ กทม. เป็นลักษณะของการเดินทางข้ามพื้นที่และทำให้เกิดการติดเชื้อ” พญ.อภิสมัย กล่าว
ส่วนตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร ที่ปิดเพราะการระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะครบ 2 เดือนแล้ว โดยคาดว่าวันที่ 1 มีนาคมนี้ จะมีแนวโน้มกลับมาเปิดได้ตามปกติ รวมถึงการปรับลดจำนวนโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่จำนวน 9 แห่ง และมีความเป็นไปได้ที่จะเสนอปลดล็อคจังหวัดสมุทรสาคร จากพื้นที่สีแดงเข้มเป็นพื้นที่สีแดง และเสนอมาตรการตรวจค้นหาแอนติบอดี้หรือผู้มีภูมิคุ้มกัน
“จังหวัดสมุทรสาครเป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในแผนกระจายวัคซีน โดยขณะนี้สถานที่ฉีดวัคซีนทุกที่มีความพร้อม ดังนั้นจึงขอให้ ผู้ที่จะรับการฉีดวัคซีนศึกษา และปฏิบัติตามมาตรการ คือเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว ขอให้รอ 30 นาที เพื่อสังเกตอาการว่าแพ้วัคซีนหรือไม่ และรับเอกสาร เพื่อไปติดตามอาการ รวมทั้งการกลับมาฉีดในโดสที่สอง” พญ.อภิสมัย กล่าว
สำหรับการค้นหาเชิงรุกในสถานที่เสี่ยงของจังหวัดปทุมธานี ที่เชื่อมโยงตลาดพรพัฒน์ 19,316 ราย พบผู้ติดเชื้อ 498 ราย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการเดินทาง ไม่เฉพาะพ่อค้าแม่ค้าที่มีการเดินทางอย่างต่อเนื่อง ไปยังหลายจังหวัด จึงมีการเชื่อมต่อและทำให้การแพร่กระจายของเชื้อเป็นไปอย่างง่าย กระจายไปใน 9 จังหวัด ดังนั้นจึงอยากขอกำชับผู้ที่เดินทางไปตลาดให้เข้มในเรื่องมาตรการป้องกัน ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย
พญ.อภิสมัย ยังกล่าวถึงแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ระยะที่ 1 เดือนมีนาคม 2564 ในกลุ่มเป้าหมาย 13 จังหวัด 183,700 โดส ประกอบด้วย พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ สมุทรสาคร 70,000 โดส พื้นที่ควบคุม 8 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร 66,000 โดส ปทุมธานี 8,000 โดส นนทบุรี 6,000 โดส สมุทรปราการ 6,000 โดส ตาก (อ.แม่สอด) 5,000 โดส นครปฐม 3,500 โดส สมุทรสงคราม 2,000 โดส และราชบุรี 2,500 โดส รวมทั้งพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม อีก 4 จังหวัด คือ ชลบุรี 4,700 โดส ภูเก็ต 4,000 โดส สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย) 2,500 โดส และเชียงใหม่ 3,500 โดส
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ศบค.ชุดเล็กได้ประชุมทางไกลร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดตากและคณะ ซึ่งในวันนี้ (25 ก.พ.) จังหวัดตากมีผู้ติดเชื้อ 154 ราย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เสนอว่า พบผู้ติดเชื้อจากการขนส่งสินค้าไทย-เมียนมา จึงเสนอโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการค้าชายแดน ด้วยมาตรการรักษาความสะอาดและการคัดกรองบุคคล อย่างไรก็ตามทาง ศบค. แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งมีสถานการณ์ความไม่สงบ โดยเตรียมการรับมือหากมีกรณีผู้อพยพ โดยนายกรัฐมนตรีก็มีความเป็นห่วงและฝากให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ .-สำนักข่าวไทย