รัฐสภา 22 ม.ค.- เลขาฯ ประธานสภาฯ แจงขั้นตอนก่อนส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัยสมาชิกภาพ “สิระ” หลัง “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ร้องขอถอดถอน วอนฝ่ายอย่าก้าวล่วงดุลพินิจศาล
นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส กับคณะรวม 145 คน เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) หรือไม่ว่า เป็นการยื่นผ่านช่องทางมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ โดยยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพความ เป็น ส.ส.ของนายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงหรือไม่
“เมื่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรทำตามขั้นตอนในทางธุรการ โดยตรวจคำร้องและลายมือชื่อของ ส.ส.ที่เข้าชื่อแล้วจำนวนครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ และลายมือชื่อถูกต้อง มาตรา 82 วรรคหนึ่งกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฏรส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้รับมอบอำนาจ จึงไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วานนี้ (21 ม.ค.) เวลา 15.00 น และได้มีหนังสือแจ้งไปยัง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แล้ว” นายราเมศ กล่าว
นายราเมศ กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าคดีอยู่ในขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว การแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องใช้ความระมัดระวัง ประธานสภาผู้แทนราษฏรทำหน้าที่เป็นคนยื่นคำร้องด้วยความเป็นกลาง ตรงไปตรงมา ส่วนต่อจากนี้เป็นกระบวนการต่อสู้คดีในชั้นศาลของผู้ร้องที่แท้จริงคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กับคณะ และฝ่ายผู้ถูกร้องคือนายสิระ ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ อยากให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญที่จะให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
ส่วนที่มีการตั้งข้อเกตว่าในคำร้องนอกจากขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายสิระ แล้วทำไมต้องมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย นายราเมศ กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นหลักการปกติ เมื่อผู้ร้อง คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้ยื่นคำขอดังกล่าวมาในหนังสือที่ยื่นต่อประธานสภาด้วย คำร้องก็ต้องใส่ประเด็นนี้ไปด้วย และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง ก็ระบุไว้ชัดว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ไม่อยากให้ไปก้าวล่วงดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ.-สำนักข่าวไทย