กรุงเทพฯ 22 ต.ค. – กระทรวงแรงงาน จับมือหัวเว่ย สร้างแรงงานดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศยุค 4.0
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับ บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและทักษะฝีมือสูงขึ้นทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานด้านดิจิทัล รองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคตและประเทศไทย 4.0
นางนฤมล กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และให้ความสำคัญการพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อม รองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อให้เกิดการจ้างงานในธุรกิจใหม่สอดคล้องกับภารกิจหลักของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในการพัฒนาและยกระดับฝีมือให้มีความรู้และทักษะฝีมือที่สูงขึ้น สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
รัฐบาลมีแผนในการพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 สาขา หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมดิจิทัล และให้โอกาสกับแรงงานกลุ่มเปราะบางในสังคม ได้แก่แรงงานผู้พิการกว่า 2.8 ล้านคน ยังมีผู้พิการอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการดูแล และจำเป็นต้องได้รับการฝึกอาชีพเพื่อประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งทักษะทางดิจิทัลจะช่วยแรงงานผู้พิการได้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะนำไปขยายผลและจัดโครงการให้ความรู้แก่แรงงานในแต่ละพื้นที่ต่อไปเพื่อที่จะกระตุ้นทั้งเศรษฐกิจและสังคมให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนพร้อม ๆ ไปกับการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0
นายอาเบลเติ้ง ประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ยประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า จะร่วมกันสร้างโอกาสการเรียนรู้และจัดการฝึกอบรมที่เน้นการพัฒนาทักษะแรงงานรวมไปถึงการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (ReSkill) และการยกระดับทักษะเดิมให้ดียิ่งขึ้น (UpSkil) เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานช่วยลดอัตราการว่างงานเพิ่มรายได้แรงงานไทยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น พัฒนาด้านดิจิทัลให้แข็งแกร่งเพิ่มจํานวนแรงงานที่มีทักษะสูงให้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 หัวเว่ยเชื่อว่าแรงงานที่แข็งแกร่งและมีทักษะสูงโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมไอซีที จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลได้สำเร็จ
ทั้งนี้ได้มีการมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพเสริมสาขาการติดตั้งระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคมในระบบ 4G และ 5G รุ่นแรก นอกจากนี้ยังตั้งเป้าฝึกอบรมให้กับบุคลากรฝึกของกรมจำนวน 120 คนและฝึกอบรมออนไลน์ให้แก่บุคคลทั่วไปจำนวน 3,000 คนซึ่งภายหลังการฝึกอบรมครบตามข้อกำหนดผู้จบหลักสูตรจะได้รับวุฒิบัตรรับรองทักษะความรู้ที่สามารถนำไปเป็นหลักฐานในการสมัครงานและยกระดับการประกอบอาชีพในอนาคต .-สำนักข่าวไทย