ระยอง 10 พ.ค.- คพ. ระบุผลตรวจสอบใน 4 ตำบลจุดใต้ลมของพื้นที่เกิดเหตุไฟไหม้ถังเก็บวัตถุดิบของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ไม่มีกลิ่นเหม็นของสารเคมี โดยพบไอระเหยของสารเคมีบางชนิดในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแบบเฉียบพลัน
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ติดตามตรวจสอบผลกระทบจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ถังเก็บวัตถุดิบของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยตรวจสอบคุณภาพอากาศ วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ระหว่างเวลา 16.40 – 18.50 น. บริเวณพื้นที่ชุมชนในตำบลบ้านฉาง ตำบลห้วยโป่ง ตำบลหนองแฟบ และตำบลมาบตาพุด ซึ่งเป็นจุดใต้ลมรวม 11 จุด ในรัศมีห่างจากจุดเกิดเหตุ 3 – 15 กิโลเมตร พบว่า ทุกจุดที่ตรวจวัดไม่ได้รับกลิ่นเหม็นสารเคมี
ส่วนผลการตรวจวัดไอระเหยของสารเคมีพบสารกลุ่ม BTEX และสารเคมีอื่นปริมาณเล็กน้อย โดยเทียบกับประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง ค่าขีดจำกัดรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจเฉียบพลัน ระดับที่ 1 ซึ่งหมายถึง ระดับความเข้มข้นสูงของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแบบเฉียบพลัน มีดังนี้
- เบนซีน (Benzene) อยู่ในช่วง 0 – 0.02 ppm (ค่าขีดจำกัดรับสัมผัสฯ ระดับที่ 1 = 52 ppm)
- โทลูอีน (Toluene) อยู่ในช่วง 0 – 0.12 ppm (ค่าขีดจำกัดรับสัมผัสฯ ระดับที่ 1 = 67 ppm)
- เอทธิลเบนซีน (Ethylbenzene) อยู่ในช่วง 0 – 0.43 ppm (ค่าขีดจำกัดรับสัมผัสฯ ระดับที่ 1 = 33 ppm)
- ไซลีน (Xylene) อยู่ในช่วง 0 – 0.38 ppm (ค่าขีดจำกัดรับสัมผัสฯ ระดับที่ 1 = 130 ppm)
- 1,3-บิวทาไดอีน (1,3-Butadiene) อยู่ในช่วง 0 – 0.14 ppm (ค่าขีดจำกัดรับสัมผัสฯ ระดับที่ 1 = 670 ppm)
- สไตรีน (Styrene) อยู่ในช่วง 0 – 0.13 ppm (ค่าขีดจำกัดรับสัมผัสฯ ระดับที่ 1 = 20 ppm)
ทั้งนี้ ไอระเหยของสารเคมีที่ตรวจพบทั้งหมดต่ำอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแบบเฉียบพลัน ตามประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง ค่าขีดจำกัดรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจเฉียบพลัน ระดับที่ 1 . 512 – สำนักข่าวไทย