1 พ.ค.- วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันสำคัญของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก สำหรับประเทศไทยในปีนี้ มีการจัดกิจกรรมเสนอข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลหลายจุด โดยพื้นที่หลักอยู่ที่ตลอดแนวถนนราชดำเนิน และลานคนเมือง
แยก จปร. มี 16 สภาองค์การลูกจ้างฯ สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ และแรงงานนอกระบบ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ “แรงงานก้าวหน้า พัฒนาทักษะฝีมือ ยึดถือความปลอดภัย เทิดไท้องค์ราชัน” โดยตั้งขบวนจากสี่แยก จปร. ถนนราชดำเนินนอก เคลื่อนไปที่เวทีหลักลานคนเมือง มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย บริษัท อสมท จำกัด เข้าร่วมเดินขบวนนำเสนอข้อเรียกร้องด้วย ซึ่งกิจกรรมในจุดนี้ จะมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เป็นตัวแทนนายกฯ รับข้อเรียกร้องจากผู้นำแรงงาน 10 ข้อ
ส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องเดิมจากปีก่อน เช่น รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง ให้รัฐบาลปฏิรูปแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น ปรับฐานการรับเงินบำนาญให้เริ่มต้นที่ 5,000 บาท เมื่อผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ขอให้คงสิทธิรักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต ให้กระทรวงแรงงานสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น ซึ่งใน 10 ข้อเรียกร้องจะไม่มี เรื่องการปรับค่าจ้าง เพราะคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว
ส่วนที่ หน้าเวทีมวยราชดำเนิน นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมกับพี่น้องแรงงานจากทั่วประเทศ จัดกิจกรรมวันแรงงาน ร่วมเรียกร้อง สิทธิแรงงานให้พี่น้องแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิทธิลาคลอด 180 วันที่ขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ และร่างกฎหมายสหภาพแรงงาน ส่งเสริมสิทธิของคนทำงานในการรวมตัวและเจรจาต่อรองกับนายจ้างและภาครัฐ ก่อนจะร่วมเคลื่อนขบวนไปที่ลานคนเมืองด้วย
ส่วนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สมาพันธ์สมานฉันแรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดกิจกรรม “สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน” โดยตั้งขบวนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเคลื่อนไปบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามทวงถามข้อเรียกร้องเดิมที่เคยยื่นไว้ทุกปี แต่รัฐบาลยังไม่ตอบรับประมาณ 10 ข้อ เช่น ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ควบคุมราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น และสิทธิในการลาคลอด 180 วัน ตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ การแยกเวทีจัดงานทุกปี นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาสมาพันธ์สมานฉันแรงงานไทย (สสรท.) กล่าวว่า ไม่ได้แตกแยก แต่ไม่เห็นด้วยกับหลักการที่รัฐบาลเข้ามาเป็นประธานจัดงาน มีการให้งบจัดงาน 5 ล้านบาท วันกรรมกรเป็นวันของคนทำงาน รัฐบาลไม่ควรเข้ามาเป็นเจ้าภาพ เพราะถ้ารัฐบาลออกเงินก็จะคุมงานเองทุกอย่าง ทำอะไรมากไม่ได้ ไม่เป็นอิสระในการสะท้อนเรื่องจริง
แรงงานเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ จ.สงขลา
ที่จ.สงขลา สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จัดกิจกรรมเดินขบวนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ เช่นแรงงานชาวเมียนมา โดยเคลื่อนขบวนจาก หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ ไปรวมกันที่ถนนเสน่หานุสรณ์ หน้าโรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องของแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ ให้รัฐบาลแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 712 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแค่ 8 จังหวัดและไม่เท่ากัน ปรับเงินเดือนและบัญชีโครงสร้างเงินเดือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามข้อเสนอของ สรส. ลดรายจ่ายของกิจกรรมวันแรงงาน ประชาชนลง เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมได้อย่างแท้จริง ลดราคาน้ำมัน ก๊าซ ลดราคาค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า โดยข้อเรียกร้องทั้งหมดจะยื่นให้กับนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาต่อไป
กิจกรรมวันแรงงาน จ.ตราด
ส่วนที่ จังหวัดตราด ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “แรงงานสร้างสุข ปลุกจิตอาสา ร่วมพัฒนาความปลอดภัย ห่างไกลยาเสพติด” ซึ่ง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตราด ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เครือข่ายแรงงาน จัดขึ้น บริเวณสนามฟุตบอลหญ้าเทียม โรงเรียนกีฬาจังหวัดตราด มีผู้ใช้แรงงานจากทั้งหน่วยงานภาคเอกชน ตลอดจนผู้แทนภาครัฐเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งการมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรของผู้ใช้แรงงาน การจับสลากแจกของรางวัลให้กับผู้ใช้แรงงาน ที่เข้าร่วมงาน การเต้นแอโรบิกเพื่อสุขภาพ การแข่งขันฟุตบอลระหว่างส่วนราชการและผู้ใช้แรงงาน ระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน รวมทั้งการประกวดร้องเพลง อีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง วงการแรงงาน และเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์ต่อชาติ .-สำนักข่าวไทย