ก.แรงงาน 8 ธ.ค. – มติคณะกรรมการค่าจ้าง สรุปผลปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 ขึ้นสูงสุด 370 บาท ที่ภูเก็ต ต่ำสุดอยู่ที่ 330 บาท จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 363 บาท
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 เรียบร้อยแล้ว โดยในที่ประชุมมีมติสรุปร่วมกันในการปรับขึ้น จำนวน 77 จังหวัด ได้แก่ 1) จังหวัดภูเก็ต อัตราค่าจ้าง 370 บาท 2) กลุ่มจังหวัดภาคกลางและปริมณฑล (รวมกรุงเทพมหานคร) มี 6 จังหวัด อัตราค่าจ้าง 363 บาท ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร 3) จังหวัดชลบุรี และระยอง อัตราค่าจ้าง 361 บาท
4) จังหวัดนครราชสีมา อัตราค่าจ้าง 352 บาท 5) จังหวัดสมุทรสงคราม อัตราค่าจ้าง 351 บาท 6) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่ อัตราค่าจ้าง 350 บาท 7) จังหวัดลพบุรี อัตราค่าจ้าง 349 บาท 8) จังหวัดสุพรรณบุรี นครนายก และหนองคาย อัตราค่าจ้าง 348 บาท 9) จังหวัดกระบี่ และตราด อัตราค่าจ้าง 347 บาท 10) จังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงา จันทบุรี สระแก้ว นครพนม มุกดาหาร สกลนคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ตาก พิษณุโลก อัตราค่าจ้าง 345 บาท
11) จังหวัดเพชรบุรี ชุมพร สุรินทร์ อัตราค่าจ้าง 344 บาท 12) จังหวัดยโสธร ลำพูน นครสวรรค์ อัตราค่าจ้าง 343 บาท 13) จังหวัดนครศรีธรรมราช บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และเพชรบูรณ์ อัตราค่าจ้าง 342 บาท 14) จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี พัทลุง ชัยภูมิ และอ่างทอง อัตราค่าจ้าง 341 บาท 15) จังหวัดระนอง สตูล เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี มหาสารคาม ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี และราชบุรี อัตราค่าจ้าง 340 บาท 16) จังหวัดตรัง น่าน พะเยา แพร่ อัตราค่าจ้าง 338 บาท 17) จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา อัตราค่าจ้าง 330 บาท
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2567 มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 345 บาท/วัน โดยที่ประชุมได้พิจารณากำหนดบนพื้นฐานของความเสมอภาคและการหารือของแต่ละจังหวัด และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น โดยพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับเป็นข่าวดีของพี่น้องแรงงาน ที่มีการปรับขึ้นอาจจะไม่เท่ากัน แต่ก็ได้ปรับขึ้นทุกจังหวัดในภาพรวมทั้งประเทศ โดยมติวันนี้เป็นการหาข้อสรุปเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ ต้องมีมุมมองให้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างอยู่ได้ ตัวเลขอาจจะไม่ได้ทำให้ฝ่ายลูกจ้างเป็นไปตามประสงค์แต่ก็ต้องดูมุมมองของฝั่งนายจ้างที่ต้องยอมรับว่ากระทบกับต้นทุน ซึ่งหากขึ้นสูงเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดการย้ายฐานผลิตได้ วันนี้คณะกรรมการก็พยายามเป็นตัวกลางหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายพอใจ โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่ใช้ประกอบการพิจารณา เช่น อิงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้ออัตรา อัตราการว่างงาน ประกอบกับอนุกรรมการแต่ละจังหวัดที่นำเสนอประกอบกับอนุกรรมการแต่ละจังหวัดที่นำเสนอขึ้นมาก็จะต้องดูรายละเอียดประกอบด้วย
ด้านนายวีรสุข แก้วบุญปัน ไตรภาคีฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ถ้าถามในภาพรวมของการเป็นไตรภาคีคงต้องบอกว่ามติวันนี้ก็พอใจ แต่ถ้าถามในมุมมองของการเป็นลูกจ้างที่ตนเองก็เป็นลูกจ้างเองด้วยก็ยังไม่พอใจ วันละ 400 บาท ยังไม่พอเลย ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่วันนี้ทั้งสามฝ่ายคุยกันด้วยไมตรีจิตเราก็ต้องคำนึงถึงทั้งความเดือดร้อนของลูกจ้างและมุมมองของนายจ้าง และพยายามรักษาผลประโยชน์ของลูกจ้างให้ได้มากที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่นายจ้างก็อาจมีทางเลือกการใช้เครื่องยนต์ หรือหุ่นยนต์ในสายการผลิตบางส่วนฝนบางสายงานด้วย. -417-สำนักข่าวไทย