กรุงเทพฯ 29 ก.ค.-อธิบดีกรมอุทยานฯ เผยข่าวดี กล้องดักถ่ายสัตว์ป่าบันทึกภาพ “เสือลายเมฆ” สัตว์ป่าคุ้มครองที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จ.อุบลราชธานี บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าและสัตว์ป่า ขณะที่ผลการอนุรักษ์เสือโคร่งของไทย เนื่องในวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก พบว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เพิ่มประชากรได้ 100% ใน 10 ปีที่ผ่านมา
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า ได้รับรายงานจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จ.อุบลราชธานีว่า สำรวจพบเสือลายเมฆ (Neofelis nebulosa) ในพื้นที่ จากการที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและคุ้มครองสัตว์ป่าร่วมกันออกเก็บข้อมูลจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า (Camera Trap) พบภาพการปรากฏตัวของเสือลายเมฆเป็นครั้งแรก จากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีการรายงานสำรวจพบและมีหลักฐานชัดเจนถึงการปรากฏตัวของเสือลายเมฆในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม
สำหรับเสือลายเมฆ (𝙉𝙚𝙤𝙛𝙚𝙡𝙞𝙨 𝙣𝙚𝙗𝙪𝙡𝙤𝙨𝙖) อยู่ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ผู้ล่าที่พบยากในธรรมชาติ โดยมีสถานภาพปัจจุบัน (IUCN) ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (VU ) และจัดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
ดังนั้นการปรากฏตัวของเสือลายเมฆจึงแสดงให้เห็นว่า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าและเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญ เนื่องจากเสือลายเมฆเป็นสัตว์ป่าที่พบยากในธรรมชาติ นับเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภารกิจการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ช่วยปกป้องรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าให้อาศัยอยู่อย่างปลอดภัย
นายอรรถพลยังกล่าวถึง ผลการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชประสบความสำเร็จการอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย โดยจำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติเพิ่มขึ้น 100% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบมากที่สุดในกลุ่มป่าตะวันตก บริเวณผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่และผืนป่าตะวันตก-แนวเทือกเขาตะนาวศรี โดยเป็นผลมามาจากการคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัย การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การวิจัยและติดตามเสือ การป้องกันการค้าสัตว์ป่า การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนป่า ตลอดจนการมีส่วนร่วมจากกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์อย่างเข้มแข็ง
สำหรับเสือโคร่งเป็นสัตว์นักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เมื่อสามารถฟื้นฟูจำนวนประชากรได้แล้ว จะต้องฟื้นฟูสัตว์อื่นๆ ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งให้สมดุลกันด้วย
ปัจจุบันกรมอุทยานฯ กำลังดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์อนุรักษ์เสือโคร่งฉบับปี 2565 – 2577 ซึ่งกำหนดเป้าหมายคุ้มครองและเพิ่มเสือโคร่งในพื้นที่ 5 กลุ่มป่า ประกอบด้วย กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าคลองแสงเขาสก
พร้อมกันนี้กรมอุทยานฯ เชิญชวนร่วมงานวันเสือโคร่งโลก 2566 ภายใต้แนวคิด “Move Forward to Sustainable Tigers Conservation : ก้าวสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน” ซึ่งกรมอุทยานฯ ร่วมกับหน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง 11 องค์กรจัดขึ้น ในวันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2566 ที่ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์.-สำนักข่าวไทย