ศรีลังกา 7 ก.ค.- ทูตไทยในศรีลังกายืนยัน “พลายประตูผา” มีสภาพความเป็นอยู่ปกติ โดยวานนี้ได้ไปเยี่ยมตามคำเชิญของวัดพระเขี้ยวแก้ว สัตวแพทย์แจ้งมีอาการตกมัน พร้อมกันนี้ได้หารือไวยาวัจกรวัด ถึงดำริของทางการไทยที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงช้าง จากนั้นให้สัมภาษณ์สื่อศรีลังกา ยืนยันทางการไทยไม่ได้ประสงค์นำ “พลายประตูผา” กลับ แต่เน้นการทำงานร่วมกันสำหรับอนาคต
นายพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบกล่าวว่า วานนี้ (6 กรกฎาคม 2566) ได้ไปยังวัด Sri Dalada Maligawa หรือวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี ตามคำเชิญของนาย Pradeep Nilanga Dela Nilame หัวหน้าไวยาวัจกรของวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วซึ่งเป็นสถานที่ดูแล “พลายประตูผา” หรือ Thai Raja ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตไทยแจ้งให้นาย Pradeep ทราบว่าทางการไทยมีดำริที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับศรีลังกาในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงช้าง รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรอาทิ สัตวแพทย์และควาญ
จากนั้นนาย Pradeep และ Dr. Ashoka Dangolla หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ (Veterinary Clinical Science) ได้เชิญเอกอัครราชทูตไทยไปดูพลายประตูผาที่วัด Suduham Pola ซึ่งอยู่ในเมืองแคนดี ห่างจากวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วประมาณ 3 กิโลเมตร พบว่า “พลายประตูผา” อยู่ในบริเวณลานโล่งซึ่งเป็นลานปูนและลานดิน มีเชือกกั้นอาณาเขตบริเวณที่อยู่ ล่ามโซ่ขาหน้าสองขาติดกับต้นไม้ใหญ่สองต้นและล่ามโซ่ขาหลัง 1 ขา จากการสังเกตพบว่า โซ่ขาหลังไม่ได้ตึงมากนัก มีระยะผ่อนได้ จากการที่ “พลายประตูผา” สามารถขยับตัวได้ในระดับหนึ่งและสามารถยืนในท่าทางธรรมชาติได้ซึ่งไม่ได้ถูกดึงรั้งจนเกินไป
ขณะนี้ “พลายประตูผา” อยู่ในช่วงตกมัน แต่ยังสามารถกินอาหาร ได้แก่ ใบปาล์ม kithul หญ้า อ้อย ได้ตามปกติ ในช่วงกว่า 30 นาทีที่สังเกตอาการ แม้มีผู้คนมากมาย แต่ “พลายประตูผา” ไม่ได้แสดงอาการดุดัน โดยควาญประจำตัวป้อนอาหารในระยะปลอดภัยได้เช่นเคย
หลังจากการเยี่ยม เอกอัครราชทูตไทยได้ย้ำถึงความสำคัญในการปรับปรุงสภาพพื้นที่ ภูมิทัศน์ และส่วนประกอบอื่นๆ ในบริเวณด้วยเช่น แหล่งน้ำ ถังน้ำ และหวังว่า เมื่อหายจากอาการตกมัน จะผ่อนโซ่ให้ช้างมีความเป็นอยู่ประจำวันอย่างธรรมชาติ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยอยู่
“ได้แจ้งแก่ทางวัดพระเขี้ยวแก้วด้วยว่า แม้วันนี้จะเห็นว่าสภาพทั่วไปเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่ายังสามารถช่วยปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของพลายประตูผาได้อีก และรับทราบถึงความพยายามของทางวัด อีกทั้งไม่อาจพลิกผันสถานการณ์ได้ในวันเดียว โดยในอนาคตจะผลักดันให้ดูแลให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” เอกอัครราชทูตไทย กล่าว
เอกอัครราชทูตไทยได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนศรีลังกาในเวลาต่อมาว่า ทางการไทยไม่ได้มีความประสงค์ที่จะนำช้าง “พลายประตูผา” กลับประเทศไทย โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า ภารกิจส่ง “พลายศักดิ์สุรินทร์” หรือ Muthu Raja ไปรักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย ได้สร้างความตระหนักรู้อย่างยั่งยืนในเรื่องสิทธิ การเลี้ยงดูและดูแลรักษาช้างและสัตว์ประเภทอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้นในทั้งสองประเทศ จากนี้ไปเราคงจะต้องเน้นเรื่องการความร่วมมือในการทำงานร่วมกันสำหรับอนาคต
ส่วนที่ปรากฏข่าวในสื่อโซเชียลมีเดียว่า ประเทศศรีลังกาจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากประเทศไทย หากนำช้างอีก 2 เชือกคือ “พลายศรีณรงค์” และ “พลายประตูผา” กลับ โดยเป็นการให้สัมภาษณ์ของนาย Neranjan Priyadarshana Dullewe Wijeyeratne อดีตไวยาวัจกรของวัดพระเขี้ยวแก้วซึ่งปัจจุบันเป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน ตามข่าวยังระบุว่า นาย Neranjan มีอำนาจหลายอย่างในการจัดการและการส่งเสริมเกี่ยวกับวัดในเมืองแคนดี้นั้น เชื่อว่า เป็นการให้ความเห็นส่วนบุคคล โดยทางการศรีลังกาไม่ได้แจ้งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว อีกทั้งปัจจุบันนาย Neranjan ไม่ได้มีบทบาทในการจัดการภายในวัดพระเขี้ยวแก้วแล้ว.-สำนักข่าวไทย