กรุงเทพฯ 7 เม.ย.- อธิบดีกรมอุตุฯ เตือนประชาชนยังต้องระวังสุขภาพจากสภาพอากาศร้อนในวันนี้ ตลอดจนพายุฤดูร้อนช่วงบ่ายถึงค่ำ วันที่ 7-9 เม.ย. หลังฝนตกอากาศร้อนจะผ่อนคลายลงบ้าง แต่ช่วง 11-16 เม.ย. อากาศจะกลับมาร้อนถึงร้อนจัดอีกครั้ง เทศกาลสงกรานต์จึงต้องระวังพายุฤดูร้อน
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 7-10 เม.ย. อากาศจะแปรปรวนกลางวัน ยังมีอากาศร้อนบริเวณภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ช่วงบ่ายวันนี้คาดว่าจะมีพายุฤดูร้อนทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บเพิ่มขึ้นบริเวณประเทศไทยตอนบน เริ่มทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกก่อน เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ซึมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้มีลมใต้ ลมตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทั้งนี้พายุฤดูร้อนส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นช่วงบ่ายถึงค่ำ ขณะที่กลางวันยังมีอากาศร้อน เมื่อฝนตกลงมาอาจจะช่วยคลายร้อนได้บ้าง
จากภาพถ่ายดาวเทียมเช้านี้ พบกลุ่มเมฆและฝนก่อตัวในประเทศกัมพูชาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก มายังบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา คาดว่า ก่อนเที่ยงวันนี้มีโอกาสที่จะเกิดฝนตกในกทม.- และปริมณฑลได้
ขณะที่ภาคใต้ ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ตอนกลาง-ตอนล่าง เนื่องจากลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ส่วนลมตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง ขอให้เดินเรือระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
จากนั้นตั้งแต่วันที่ 11-16 เม.ย. อากาศจะกลับมาร้อนถึงร้อนจัดในบริเวณภาคเหนือ ปีนี้ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ คาดว่า จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้ช่วงบ่ายถึงค่ำ สลับอากาศร้อนตอนกลางวัน ต้องระมัดระวังขณะเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง และติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นฉบับที่ 6 โดยจะมีผลกระทบถึงวันที่ 9 เม.ย. นี้ โดยจังหวัดที่คาดว่า จะมีผลกระทบมีดังนี้
วันที่ 7 เมษายน 2566
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 8 เมษายน 2566
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 9 เมษายน 2566
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตรพิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล - ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย
ตลอดจนให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย