กรุงเทพฯ 6 ธ.ค. .- อธิบดีกรมชลประทานสั่งโครงการชลประทานภาคใต้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากเนื่องจากฝนที่ตกหนัก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงใน 11 จังหวัดต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ รวมถึงเตรียมพร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่า ภาคใต้จะมีฝนตกหนักจาก 3 ปัจจัยได้แก่ ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ รวมถึงหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่างและช่องแคบมะละกาที่ในช่วงวันที่ 8 – 11 ธ.ค. 65 ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง นอกจากนี้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ดังนั้นจึงสั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งในภาคใต้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์
ทั้งนี้กรมชลประทานคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 11 จังหวัดได้แก่
- จังหวัดชุมพร (อำเภอละแม)
- จังหวัดภูเก็ต (อำเภอถลาง และเมืองภูเก็ต)
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอกาญจนดิษฐ์ ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง พุนพิน ดอนสักและเมืองสุราษฎร์ธานี)
- จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล ท่าศาลา พรหมคีรี ปากพนัง นบพิตำ และพระพรหม)
- จังหวัดพัทลุง (อำเภอเขาชัยสน ควนขนุน บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน และกงหรา)
- จังหวัดสงขลา (อำเภอกระแสสินธุ์ ระโนด เทพา รัตภูมิ ควนเนียง หาดใหญ่ สทิงพระ และจะนะ)
- จังหวัดตรัง (อำเภอกันตัง)
- จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล)
- จังหวัดปัตตานี (อำเภอไม้แก่น หนองจิก โคกโพธิ์ สายบุรี กะพ้อ ยะหริ่ง ทุ่งยางแดง และมายอ)
- จังหวัดยะลา (อำเภอรามัน เมืองยะลา และยะหา)
- จังหวัดนราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส ตากใบ เจาะไอร้อง บาเจาะ ยี่งอ แว้ง สุไหโก-ลก สุคิริน และรือเสาะ)
นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก ตลอดจนให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง
นายประพิศกล่าวว่า ได้ย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงและพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำและในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและอิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล โดยเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดการณ์ว่า จะตกหนัก ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
พร้อมกันนี้ให้เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนล่วงหน้าแก่ประชาชนเพื่อให้พร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย