สุพรรณบุรี 3 ธ.ค. – รมว. ทส. สั่งกรมอุทยานฯ เคลื่อนย้ายลูกช้างหลงโขลงที่พบในอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี โดยประสานขอใช้เฮลิคอปเตอร์ของทหาร เพื่อนำลูกช้างมาอนุบาลและฟื้นฟูสุขภาพที่ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวากอย่างเร่งด่วนเนื่องจากมีภาวะติดเชื้อ อยู่ในสภาพอ่อนแรงมาก ขาดน้ำรุนแรง และมีบาดแผลหลายแห่ง โดยเฮลิคอปเตอร์นำลูกช้างถึงจังหวัดสุพรรณบุรีได้อย่างปลอดภัย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว. ทส.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าหลงโขลงซึ่งพบในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ต. เขาโจด อ. ศรีสวัสดิ์ จ. กาญจนบุรี ให้นำมาอนุบาลและรักษาในพื้นที่เหมาะสม โดยเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปช่วยเหลือลูกช้างบริเวณที่ได้รับแจ้งจากพระธุดงค์ในพื้นที่ว่า พบลูกช้างป่าพลัดหลงตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. แต่พิจารณาแล้วเห็นว่า บริเวณที่พบไม่เหมาะสมที่จะดูแลลูกช้างป้าเนื่องจากการเข้าออกลำบาก ต้องเดินทางขึ้นเขาชัน ข้ามลำห้วยและป่ารกทึบ ทางเดินแคบและลื่นเพราะฝนตกเป็นระยะๆ ไม่สามารถใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ อีกทั้งไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินเกี่ยวกับลูกช้างและทีมเจ้าหน้าที่จะอันตรายมาก เนื่องจากไม่สะดวกทั้งการเดินทาง และติดต่อสื่อสาร
รมว. ทส. กล่าวว่า นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งได้ทราบข่าวการพบลูกช้างป่าพลัดหลง มีความห่วงใยเป็นอย่างมาก จึงได้ประสานงานเพื่อให้เคลื่อนย้ายมาในที่ปลอดภัย โดย รมว.ทส. ได้ประสานไปยังกองทัพบกซึ่งได้นำเฮลิคอปเตอร์มาช่วยเคลื่อนย้าย
ทั้งนี้ ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลงบริเวณอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์วันนี้เริ่มขึ้นในเวลา 08.00 น. เฮลิคอปเตอร์ทหารภายใต้การกำกับการของ พลตรี วุทธยา จันทมาศ ผบ.กกล. สุรสีห์ ยกตัวเคลื่อนย้ายลูกช้างลูกช้างป่าโดยให้อยู่บริเวณห้องโดยสารของเฮลิคอปเตอร์ มีสัตวแพทย์ 3 คนควบคุมการเคลื่อนย้ายบนเฮลิคอปเตอร์ ใช้เวลาบินประมาณ 30 นาที มาลงที่โรงเรียนวัดคอกช้าง ต.องค์พระ อ. ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี เวลา 10.00 น. อย่างปลอดภัย จากนั้นเคลื่อนย้ายลูกช้างโดยรถบรรทุกขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นรถย้ายสัตว์ป่าโดยเฉาะซึ่งมีตู้ควบคุมอุณหภูมิและอุปกรณ์กู้ชีพเบื้องต้น เดินทางโดยรถยนต์ระยะ 120 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อนำลูกช้างไปรักษาที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ. สุพรรณบุรี โดยนางสาวกัญจนาได้ประสานงานให้เตรียมพื้นที่อาคารอเนกประสงค์เป็นที่พักรักษาตัวซึ่งเจ้าหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคเรียบร้อย มีความพร้อมด้านยาและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกำลังวางแผนการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพลูกช้างอย่างเร่งด่วน
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เกี่ยวกับลูกช้างพลัดหลงว่า เป็นเพศเมีย น้ำหนักโดยประมาณ 130-150 กิโลกรัม วัดขนาดลำตัว ยาว 117 เซนติเมตร สูง 89 เซนติเมตร และกว้าง 49 เซนติเมตร ในการส่งสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ประเมินอาการว่ามีภาวะติดเชื้อ อ่อนแรงมาก ขาดน้ำรุนแรง ถ่ายเหลว มีเยื่อเมือกซีด พบแผลหลุมในช่องปาก มีแมลงวันวางไข่ที่แผลบริเวณปลายริมฝีปากล่างและใบหู รวมถึงมีรอยขีดข่วนบริเวณลำตัว นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้สร้างคอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก เพื่อสังเกตว่าจะมีโขลงช้างป่ามารับลูกช้างพลัดหลงตัวนี้หรือไม่ ปรากฏว่ายังไม่พบแต่อย่างใด
สัตวแพทย์ให้นมผงชนิดเอนฟาแลคผสมยาขับลมไกรวิเตอร์ทุก 1 ชั่วโมงและให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำ ป้อนเกลือแร่ ให้วิตามินบำรุงแบบฉีด ให้ยากำจัดปรสิตภายในและภายนอก ให้ความอบอุ่นแก่ลูกสัตว์โดยการก่อไฟ ห่มผ้าห่มในช่วงเวลากลางคืนและช่วงเช้า
เมื่อประเมินแล้วว่า สภาพพื้นที่ที่พบลูกช้างไม่เหมาะสมในการดูแลรักษาจึงเห็นว่าควรนำมาดูแลรักษาเบื้องต้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เนื่องจากมีทีมสัตวแพทย์จาก สบอ.3 (บ้านโป่ง ) สัตวแพทย์จากส่วนกลางกรมอุทยานฯ และ สัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก ยารักษา และอุปกรณ์ที่มีความพร้อม สะดวกในการเดินทาง และระยะทางการเคลื่อนย้ายใกล้กว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพสัตว์
สำหรับลูกช้างพลัดหลงตัวดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตั้งชื่อว่า “ธันวา” ตามเดือนที่ปฏิบัติการช่วยเหลือ พร้อมยืนยันว่า จะดูแลรักษาอย่างดีที่สุด.-สำนักข่าวไทย