ชลบุรี 22 พ.ย. – กรมอุทยานแห่งชาติฯ ตรวจเลือดลูกช้างป่าหลงโขลง “น้องตุลา” เป็นครั้งที่ 2 ไม่พบเชื้อเฮอร์ปีส์ ซึ่งเป็นเชื้อที่มักคร่าชีวิตลูกช้าง แต่ไม่วางใจ จึงฟื้นฟูสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน พิจารณาหาพื้นที่อนุบาลใหม่ที่มีช้าง “แม่รับ” ดูแล ย้ำจะคำนึงถึงความพร้อมของลูกช้างเป็นสำคัญ
นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อนุบาลลูกช้างป่าหลงโขลง “น้องตุลา” อยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว สัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นครั้งที่ 2 ปรากฏว่า ไม่พบเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ จากที่ก่อนหน้านี้สงสัยว่า ลูกช้างอาจป่วยด้วยเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ จึงเป็นสาเหตุให้ถูกโขลงทิ้ง แต่ไม่ได้วางใจ เนื่องจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์จะแฝงอยู่ในลูกช้าง หากร่างกายอ่อนแอ หรือเกิดภาวะเครียด จะแสดงอาการโดยส่งผลต่อระบบเลือด ทำให้อวัยวะภายในล้มเหลว และทำให้ลูกช้างล้มในที่สุด ดังนั้นจึงได้ให้ยาต้านไวรัสกินอย่างต่อเนื่อง พร้อมเสริมด้วยยาบำรุงต่างๆ
หลังจากที่พบลูกช้างเพศผู้ตัวนี้ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา แล้วนำมาอนุบาลที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ได้ให้เจ้าหน้าที่ดูแล “น้องตุลา” อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยลูกช้างกินนมวันละ 13-14 ลิตร น้ำหนัก 90.30 กิโลกรัม ร่าเริง ซุกซน และไม่มีอาการซึม ตอนกลางคืนห่มผ้าและจุดไฟเพื่อเพิ่มความอบอุ่นตลอดทั้งคืน พาเดินออกกำลังกายทุกวัน ซึ่ง “น้องตุลา” ชอบมาก ยกเว้นวันที่ฝนตก อย่างเช่นวานนี้ไม่ได้พาออกไปเล่นกลางแจ้ง น้องตุลามาคอยริมคอกจนยืนหลับไป
กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะพิจารณาหาสถานที่ที่เหมาะสมในการนำ “น้องตุลา” ไปอนุบาลต่อ โดยจะหาช้าง “แม่รับ” มาดูแลและสอนการใช้ชีวิตตามธรรมชาติของช้าง แต่ต้องรอให้ลูกช้างหย่านม และแน่ใจว่าสุขภาพแข็งแรงก่อน โดยการเคลื่อนย้ายลูกช้างขณะนี้ อาจไม่เป็นผลดี ส่วนการคืนลูกช้างป่าสู่ธรรมชาติดังที่ทำในกรณี “น้องทับเสลา” ลูกช้างป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ที่พลัดหลงโขลง ซึ่งต่อมานำไปอนุบาลที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำปาง เป็นแนวทางที่จะพิจารณาอีกครั้งในอนาคตที่ต้องคำนึงถึงความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมของลูกช้างเป็นสำคัญ.-สำนักข่าวไทย