บึงกาฬ 16 ก.ย.-กรมอุทยานฯ อนุบาลลูกช้างป่าภูวัวอายุ 2 สัปดาห์ที่พลัดหลงโขลงอย่างใกล้ชิด สุขภาพโดยรวมยังค่อนข้างอ่อนแอ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ออกติดตามร่องรอยโขลงเพื่อส่งลูกช้างกลับคืน
นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวถึงความคืบหน้าในการอนุบาลลูกช้างป่าภูวัวอายุเพียง 2 สัปดาห์ที่พลัดหลงโขลงว่า สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากสุขภาพโดยรวมยังค่อนข้างอ่อนแอ
ลูกช้างตัวนี้เป็นเพศเมีย ชาวบ้านพบเมื่อวันที่ 12 กันยายน ริมป่านาตู้ดำ บ้านเทพมีชัย ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ช่วยกันทำคอกชั่วคราวบริเวณใกล้เคียงจุดที่พบลูกช้างเพื่อรอให้โขลงมารับ แต่รอตลอดทั้งคืน โขลงไม่กลับมา จึงได้เคลื่อนย้ายมาอยู่ใกล้ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัวเพื่อให้สะดวกในการดูแลรักษาของสัตวแพทย์
เมื่อแรกมาถึง อุณหภูมิร่างกายสูง ถ่ายเหลว และมีบาดแผลบริเวณสะดือและหลังใบหู สัตวแพทย์จึงให้ยารักษาตามอาการและทำแผลให้ พร้อมเก็บเลือดส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจโรค
ขณะเดียวกันสั่งการให้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัวออกติดตามร่องรอยเส้นทางการเคลื่อนที่ของโขลงช้างป่า โดยติดกล้องบันทึกภาพเพื่อใช้เป็นข้อมูล หากพบโขลง จะได้ส่งลูกช้างกลับคืนสู่โขลง แต่จะดำเนินการต่อเมื่อลูกช้างแข็งแรงแล้ว
ล่าสุดได้รับรายงานจากส พ.ญ.ทักษิณา จารุวัฒนานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการว่า อุณหภูมิร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว แต่ยังถ่ายเหลว กินนมได้น้อยลง วานนี้ (15 กันยายน) ลูกช้างกินนม 24 ครั้ง ปริมาณรวม 5.4 ลิตร โดยเสริมวิตามินบีและซีให้ด้วย
สำหรับบาดแผลที่สะดือพบหนอง ได้ล้างทำความสะอาด ทายาฆ่าเชื้อ แผลถลอกบริเวณหลังใบหู ล้างทำความสะอาดและยาฆ่าเชื้อ ตาซ้ายและขวามีอาการเนื้อเยื่อตาอักเสบ จึงเช็ดตาและหยอดยาหยอดตา พบแผลร้อนในที่ริมฝีปากล่าง 1 จุด ได้ทาจินเชี่ยนไวโอเลต (ยาม่วง) และให้ดื่มน้ำมากขึ้น รวมถึงใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัวลูกช้างป่าเพื่อความสะอาด นอน 8 ครั้ง ระยะเวลาที่นอนแต่ละครั้ง น้อยที่สุด 10 นาที มากที่สุด 1 ชั่วโมง 40 นาที โดยกลางคืนนอนเป็นระยะเวลานานกว่ากลางวัน
ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าวว่า กำชับให้สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) ดูแลลูกช้างป่าอย่างใกล้ชิดเนื่องจากสุขภาพร่างกายโดยรวมยังคงอ่อนแอ รวมถึงย้ำให้เจ้าหน้าที่ดูแลสถานที่ใช้อนุบาลลูกช้างเป็นพิเศษ โดยนำฟางที่สกปรกออกจากคอกและนำฟางใหม่เข้าไปแทนที่ พร้อมทำความสะอาดบริเวณรอบๆ คอกลูกช้างอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย