บึงกาฬ 13 ก.ย. – ชาวบ้านพบลูกช้างป่าพลัดหลงอยู่กลางทุ่งนา ใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว สภาพอ่อนเพลีย ร้องเรียกหาแม่ช้างตลอดเวลา
ชาวบ้านเทพมีชัย หมู่ที่ 7 ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ พบลูกช้างป่าภูวัว 1 ตัว เดินกระสับกระส่ายอยู่ในทุ่งนาของชาวบ้าน ใกล้กับเขาภูวัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว บางช่วงล้มตัวลงนอนบนนาข้าวด้วยความอ่อนเพลีย จึงเข้าไปช่วยเหลือ และแจ้งเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว
จากการตรวจสอบพบว่า ลูกช้างป่า มีอายุประมาณ 1 เดือน เพศเมีย ไม่มีอาการบาดเจ็บ แต่อ่อนเพลีย และร้องเรียกหาแม่ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ประเมินสภาพร่างกายของลูกช้างป่า และนำน้ำและชงนมให้ดื่มทุก 2-3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 1 – 1.5 ลิตร ยาปฏิชีวนะ ทั้งทำคอกให้ลูกช้างป่าอาศัย บริเวณใกล้จุดทางขึ้น-ลงเขาภูวัว เส้นทางที่ฝูงช้างป่าขึ้นลงประจำ เพื่อรอแม่และโขลงกลับมารับ ทั้งจัดเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วและชุดผลักดันช้าง นอนเฝ้าสังเกตการณ์ตลอดทั้งคืน จนกว่าจะมีโขลงช้างกลับมารับลูกช้างเข้าป่าไป
นอกจากนี้ บนเขาตะแบก ต.โป่งน้ำร้อน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ชาวบ้านแจ้งว่าพบลูกช้างป่า 1 ตัวเช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้าขึ้นไปบนยอดเขาสูง และช่วยกันค้นหาตัวลูกช้าง กระทั่งพบตัว จึงยิงยาซึม แต่ลูกช้างวิ่งหนีเข้าป่าทึบ ทำให้เจ้าหน้าที่ตามลูกช้างไม่ทัน หลังจากนั้นกว่า 2 ชั่วโมง จึงพบ แต่ลูกช้างป่าตื่นตกใจ วิ่งหนีกลับเข้าป่าอีกรอบ กระทั้งช่วงบ่าย พบลูกช้างที่อยู่ในอาการซึมจากฤทธิ์ยา เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าใกล้ได้
จากการตรวจร่างกายอย่างละเอียด พบว่าลูกช้างป่ามีอาการผอม อยู่ที่ 2/5 คะแนน มีอาการขาดน้ำ ดูจากลูกตาภายในเบ้าตาจมลึก พบแผลในช่องปากและงวง ไม่พบบาดแผลตามร่างกาย การขับถ่ายเป็นก้อนปกติ อย่างไรก็ตาม ถือว่ามีความผิดปกติด้านสุขภาพ จากการเป็นแผลในช่องปากและงวง ส่งผลทำให้การกินอาหารลดลง ร่างกายขาดสารอาหาร เบื้องต้นต้องฟื้นฟูร่างกายลูกช้างให้กลับมาแข็งแรงมากขึ้น จึงจะให้ยาฆ่าเชื้อ ยาบำรุงร่างกาย ยาบำรุงกล้ามเนื้อ และให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำพร้อมกับวิตามิน ทำความสะอาดบาดแผลในช่องปากและงวง และเก็บเลือด สวอปในช่องปาก ทวารหนัก และขี้ลูกช้างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติ เพื่อตรวจหาโรคแทรกซ้อนในร่างกาย เพื่อประกอบการรักษาในครั้งถัดไป
หลังจากลูกช้างฟื้นจากยาซึม ได้เดินเข้าป่าทึบ ทีมเจ้าหน้าที่ได้ทำบ่อน้ำเอาไว้ให้ พร้อมเตรียมยาถ่ายพยาธิ และยาบำรุงร่างกายที่ซ่อนไว้ในกล้วยสุก และนำไปวางในจุดที่ลูกช้างป่าอาศัยอยู่ ซึ่งสัตวแพทย์ประเมินสุขภาพลูกช้าง เห็นว่ายังแข็งแรงเพียงพอที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในป่าได้ จึงไม่ได้เคลื่อนย้ายออกมาจากป่า แต่จะใช้การติดตามอาการของลูกช้างป่าอย่างต่อเนื่องแทน. – สำนักข่าวไทย