สำนักข่าวไทย 30 พ.ย.- กรมวิทย์ เผยผลการตรวจหาสายพันธุ์โควิด-19 พบ XBC หรือเดลตาครอน รายแรกของไทย ปัจจุบันรักษาหายแล้ว อาการไม่รุนแรง และไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ ขณะเดียวกัน พบสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 เพิ่มขึ้น 63.3%
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวผลการตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า จากการติดตามสถานการณ์ ในประเทศไทย จากการระบาด สายพันธุ์เดลตา จนมา ถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์โอไมครอน และเกิดสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ได้แก่ BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 แต่ปัจจุบันสายพันธุ์โอไมครอน ยังเป็นสายพันธุ์หลักในการแพร่ ส่วนภาพรวมรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่าง 19-25 พ.ย.65 ผลการตรวจ SNP/Deletion จำนวน 299 ราย พบว่าสัดส่วนของสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 เพิ่มขึ้น 63.3% จากสัปดาห์ก่อน 42.9% และพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ เป็นการติดเชื้อในประเทศ และจากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole genome sequencing) ในประเทศไทย พบสายพันธุ์ BA.2.75 มากกว่า 468 sequences ซึ่งรวมถึงลูกหลานของ BA.2.75 เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2) (จำนวนนี้รวมจำนวน 216 sequences อยู่ระหว่างการนำเข้า GISAID โดยพบว่า BN.1 (BA.2.75.5.1) จำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนถึง 4 เท่าตัว การเพิ่มจำนวนที่รวดเร็วของเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์กลายพันธุ์ มีความเป็นไปได้ของการเพิ่มจำนวนการติดเชื้อจนกระทั่งทดแทนสายพันธุ์เดิมที่กระจายอยู่ในพื้นที่
นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวว่า นอกจากนี้พบ XBB.1 และ BQ.1 เพิ่มขึ้น จำนวน 4 และ 7 ราย ตามลำดับ ขณะเดียวกันก็พบ ส่วนสายพันธุ์ XBC หรือสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตา และโอไมครอน BA.2 พบครั้งแรกในไทย จำนวน 1 ราย ซึ่งการพบนี้ ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ว่า เทียบเท่ากับเดลตา เพียงแต่ จะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น ปัจจุบันผู้ป่วยรายนี้รักษาหายเป็นปกติแล้วสำหรับประวัติ ของผู้ป่วย เนื่องจากเป็นการเก็บตัวอย่างเชื้อและนำมาตรวจเป็นรอบๆ โดยคาดว่าเป็นการเก็บเมื่อเดือนตุลาคม ไม่พบประวัติ เดินทางไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตามทางกรมวิทย์ฯ จะมีการติดตามเรื่องสายพันธุ์ ต่อไป โดยคำแนะนำก็คือ แม้ไวรัสจะมีการพัฒนาการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการรับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม การสวมหน้ากากอนามัย มีระยะห่าง เลี่ยงสถานที่แออัด ยังช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรค.-สำนักข่าวไทย