กรุงเทพฯ 7 เม.ย. – รมว.พลังงานยอมรับประมูลบงกช-เอราวัณอาจช้ากว่าแผนเสร็จสิ้นปี 2560 เล็กน้อย เพราะต้องรอบคอบคุยผู้สนใจร่วมประมูลว่า 10 ราย ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่สร้างหรือไม่ รอ คสช.สรุป
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการกว่า 10 ราย เช่น ตะวันออกกลาง จีน ให้ความสนใจที่จะเข้ามาประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุปี 2565-2566 คือ แหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังไม่ตัดรูปแบบการประมูลทั้งแบบสัมปทาน,ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบรับจ้างผลิต (เอสซี) ออกไปแต่อย่างใด โดยกรมฯจัดโฟกัสกรุ๊ปรับฟังความเห็นเอกชน นักวิชาการ เพื่อกำหนดว่าแหล่งใดควรใช้รูปแบบใดตามหลักสากลที่พิจารณาจากปริมาณสำรอง จำนวนหลุมผลิต และราคาน้ำมัน โดยทุกอย่างเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งจะมีอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์เสนอต่อคณะกรรมการปิโตรเลียม และเสนอมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป
“ขั้นตอนว่าจะเลือกพื้นที่ใด ใช้หลักเกณฑ์ใดประมูล จะเสร็จเสนอ ครม.เดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นร่างกฎกระทรวงต่าง ๆ จะกำหนดเสร็จสิ้นเดือนมิถุนายน และเปิดทีโออาร์ให้เอกชนยื่นประมูลเดือนกรกฎาคม และคัดเลือกเสร็จสิ้นเดือนธันวาคมนี้ โดยทุกอย่างเร่งรัดให้เร็ว แต่ยอมรับว่าอาจจะมีความล่าช้าบ้างเล็กน้อย ถ้าเร่งรัดแล้วเสียหายก็อาจจะเลื่อนออกไป เบื้องต้นคุยกับผู้ประกอบการแล้วว่าเลื่อนเล็กน้อยอาจจะไม่เป็นไร จากปกติต้องวางแผนล่วงหน้า 5 ปีก่อนหมดอายุสัมปทาน ” รมว.พลังงาน กล่าว
พล.อ.อนันตพร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังไม่ส่งร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและข้อสังเกตเพิ่มเรื่องการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ (เอ็นโอซี) มาให้รัฐบาลพิจารณาแต่อย่างใด โดยการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษา ทางกระทรวงจะเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย แต่คงไม่ขอเป็นประธานคณะกรรมการ เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงฯ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังศึกษาเรื่องการจัดตั้งเอ็นโอซี หากรัฐบาลเห็นว่าผลการศึกษาเหมาะสมก็อาจจะใช้ผลของคลังก็ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าคลังศึกษาถึงขั้นตอนใด
รมว.พลังงาน ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขณะนี้รอ คสช.สรุปว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร แล้วกระทรวงจะนำมาประกอบการพิจารณาว่าหากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นไม่ได้ หรือจะใช้ก๊าซแอลเอ็นจีผลิตไฟฟ้าทดแทนในพื้นที่ใด ซึ่งทุกอย่างจะต้องชัดเจนภายในปี 2560 โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเลเซียแต่อย่างใด หากหวั่นเกรงมลพิษไม่ว่าจะสร้างที่กระบี่หรือที่มาเลเซีย หากมีปัญหาจริงก็ไม่ต่างกัน เพราะพื้นที่ใกล้กัน อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดนั้น ปลดปล่อยมลพิษน้อยมาก.-สำนักข่าวไทย