สนามบินอู่ตะเภา 5 เม.ย. – รมว.อุตฯ ยอมรับผู้ประกอบการเตรียมตัวลงทุนหลายโครงการ หลังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลเอาจริง EEC คาดภาคเอกชนลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (ครศ.) เพื่อเร่งรัดโครงการลงทุนหลายโครงการได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน เพื่อตัดสินใจเข้ามาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โตโยต้าเตรียมแผนลงทุนครั้งใหญ่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้า และจะแถลงข่าวเร็ว ๆ นี้ ขณะที่อาลีบาบากำหนดแผนลงทุนชัดเจนตั้งเป็นศูนย์ E-Commerce ParK เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค บริษัท Google ร่วมกับ กสท. โทรคมนาคม ลงทุนระบบเครือข่ายอินเตอร์ Could Internet Of Thing บริษัทหัวเหว่ย ขยายการลงทุนเพิ่มอีกหลายโครงการ ขณะที่บริสโตน ต้องการลงทุนผลิตล้องยางเครื่องบินสอดรับเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะที่สถาบันการศึกษาเร่งรัดผลิตบุคคลากรรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และเดินหน้าพัฒนาการแพทย์ครบวงจร ตามการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการบริหารระเบียงเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า กองทัพเรือเสนอที่ประชุม ครศ. เพื่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 2 รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ในช่วง 15 ปีข้างหน้า นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรเมื่อโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟฟ้า ท่าเรือ มอเตอร์เวย์ ระหว่างรอกฎหมายการจัดตั้ง EEC ผ่านสภา ขณะนี้สามารถใช้คำสั่ง คสช.เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนการเตรียมแผนลงทุนน่าจะใช้เวลา 8-10 เดือน เมื่อมีความพร้อมจะเกิดการลงทุนภาคเอกชนใน EEC มากกว่า 500,000 ล้านบาทในช่วงแรก และเกิดการลงทุนโดยรวมมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า
สำหรับแผนดึงดูดการลงทุน นอกจากส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังปรับแผนดูแลการลงทุนเป็นรายบริษัท เพื่อสอบถามความต้องการของแต่ละแห่ง เช่น อาลีบาบา ต้องการเขตปลอดอากร นอกเหนือจากบีโอไอ จึงต้องประสานหน่วยงานอื่น โดยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นรายบริษัท นอกจากนี้ ยังต้องเร่งรัดการสร้างรถไฟทางคู่มายังภาคตะวันออกและขยายมอเตอร์เวย์ชลบุรี-ระยองให้พร้อม เพื่อลดการขนส่งสินค้าบนถนน จากเดิมการขนส่งสินค้าโดยรถไฟร้อยละ 7 ต้องการให้เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ทำให้ลดปริมาณจราจรบนถนนอีกจำนวนมาก.-สำนักข่าวไทย