ชลบุรี 23 พ.ย.-เลขาฯ EEC ชี้ “ปราจีนบุรี” เหมาะสมที่สุดเข้า EEC เป็นจังหวัดที่ 4 เผยมีนักลงทุนแล้ว 139 ราย สร้างมูลค่าลงทุนกว่า 2.4 แสนล้านบาท
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) บรรยายพิเศษ เรื่อง “EEC UPDATE” ภายในงานสัมมนา หอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 42 ที่จังหวัดชลบุรี โดยระบุว่า การขับเคลื่อนแผนงานโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่ผ่านมา ได้จัดทำพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 และขับเคลื่อนแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีแผนปฏิบัติการพัฒนา 6 แนวทาง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ระดับประเทศพัฒนาโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งขับเคลื่อน 5 Cluster อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ 2) อุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ 3) อุตสาหกรรมยานยนต์ 4) อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ BCG และ 5) อุตสาหกรรมบริการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทรนด์การลงทุนโลก
ทั้งนี้ มูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ปี 2561-ไตรมาส 3 ปี 2567 มีมูลค่า 1,731,625 ล้านบาท โดย 5 ประเทศที่ได้รับการออกบัตรสูงสุดได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งมีการดำเนินการชักชวนนักลงทุนของ สกพอ. ซึ่งมีนักลงทุนทั้งหมด 139 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2566-20 ก.ย.2567) สร้างมูลค่าลงทุนรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท เป็นต้น
นายจุฬา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ถึงหนึ่งในแนวทางที่เอกชนเสนอ คือการเพิ่มจังหวัดปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ EEC ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าปราจีนบุรี มีความเหมาะสมเป็นพื้นที่เหมาะสมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมด้านบริการอื่นๆ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะดำเนินการต่อ เพราะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาเมืองได้
อีกทั้ง โครงการก่อสร้าง ทางหลวงหมายเลข 3481 สายบ้านบางขนาก-ปราจีนบุรี ตอน บ้านหัวไผ่-การเคหะฯ ปราจีนบุรี ระหว่าง กม. ที่ 47+200 – 53+300 และ 54+450 – 60+200 พื้นที่อำเภอเมือง และบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ระยะทาง 11.8 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ ทำให้สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี
โดยจะต้องมีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ขยาย EEC ซึ่งคาดว่าในกระบวนการสามารถดำเนินการได้ภายในปีหน้า โดยไม่ได้มองเฉพาะให้เกิดการลงทุนใหม่เท่านั้น แต่มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนการลงทุนเดิม สู่อุตสาหกรรมใหม่สีเขียว โดยเฉพาะภาคบริการ เช่น บริการที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ สุขภาพ การแพทย์ และการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ถือว่าเป็นประโยชน์โดยเฉพาะในด้านพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้น เหมาะสมกับนักลงทุนระยะยาวที่ต้องการพื้นที่เยอะ จัดการระบบขนส่งได้ดีขึ้น และมีสาธารณูปโภคพร้อม.-516.-สำนักข่าวไทย