กรุงเทพฯ 31 มี.ค.-แม้ราคาน้ำมันปีนี้แพงกว่าปีที่แล้ว แต่คนไทยยังใช้มือเติบไตรมาสแรก กลุ่มน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น3.1% และกลุ่มดีเซล เพิ่มขึ้น 1.3% ยอดใช้ก๊าซหดตัว ธพ.ล้มแผนยกเลิกขายแก๊สโซฮอล์ 91
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันของไตรมาสที่ 1(ม.ค.-มี.ค.) ปี 2560 เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2559โดยกลุ่มน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น3.1%อยู่ที่29.1ล้านลิตร/วัน และกลุ่มดีเซล เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65.3ล้านลิตร/วันเพิ่มขึ้น 1.3% ในขณะที่ LPG ลดลง 2.1%อยู่ที่ 16.1ล้าน กก./วัน และ NGVลดลง 14.3% เฉลี่ยอยู่ที่ 7.0 ล้าน กก./วัน
“ไตรมาส1 ปีนี้ราคาน้ำมันแพงกว่าปีที่แล้ว จากน้ำมันดิบราวกว่า 30 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็น 50 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่คนไทยยังใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจขยายตัว รถยนต์เพิ่มมากขึ้นรวมไปถึงการเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากก๊าซเป็นน้ำมันรวมถึงรถติดในเขต กทม.ด้วย”นายวิฑูรย์กล่าว
สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเฉลี่ย อยู่ที่29.1ล้านลิตร/วัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันกลุ่มเบนซินเกือบทุกชนิดยกเว้นน้ำมันเบนซินที่มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวัน 1.2 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 6.8% กลุ่มแก๊สโซฮอล์ขยายตัว 3.6% เฉลี่ยอยู่ที่ 27.9 ล้านลิตร/วัน โดยเป็นการเพิ่มของแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดยกเว้น แก๊สโซฮอล์อี 10 ออกเทน 91 ที่มีการใช้น้อยลง 4.2% ปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์อี 10 ออกเทน95 มีปริมาณการใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่าแก๊สโซฮอล์อี 10 ออกเทน91 เนื่องมาจากราคาที่ปรับตัวใกล้เคียงกันทำให้ประชาชนเลือกใช้น้ำมันชนิดที่มีค่าออกเทนสูงกว่าขณะเดียวกันแก๊สโซฮอล์อี 85 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ 1.0 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราการเพิ่ม 20.7% เนื่องจากปัจจุบันมีรถยนต์ผลิตใหม่ที่รองรับแก๊สโซฮอล์อี 85 เข้าสู่ท้องตลาดมากขึ้น
ส่วนนโยบายเดิมที่มีแผน ยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ในต้นปี 2561 เบื้องต้น มีความชัดเจนว่า คงจะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเกรงว่า ปริมาณเอทานอลไม่เพียงพอ เนื่องจากการค้เป็นระบบเสรีซึ่งผู้ค้าสามารถส่งออกวัตถุดิบกากน้ำตาล (โมลาส) ไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังเดินหน้าส่งเสริมการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นด้วยการส่งเสริมการใช้ อี 20 ต่อเนื่อง -สำนักข่าวไทย