กระทรวงคลัง 31 มี.ค.-นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคลัง ร่วมทำพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 และสิ่งศักดิ์ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปณากระทรวงการคลัง ครบรอบ 142 ปี
นายสมชัย สัจจพงศ์ ปลัดกระทรวงคลัง กล่าวว่า รัฐมนตรีมอบโยบายให้คิดนอกกรอบเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะเกษตรกร เนื่องจากยังมีปัญหาหนี้นอกระบบ รายได้น้อย จึงต้องศึกษาแนวทางการดูแลเกษตรกรของต่างประเทศ ทำไมรายได้สูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อศึกษาหามาตรการมาดูแลเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม ด้วยการพิจารณาปัจจัยแวดล้อมด้านต่างๆ ทั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ตั้งมานานแล้วแต่ทำไมไม่ส่งผลต่อตลาดสินค้าเท่าที่ดีต่อกลไกตลาด การศึกษาเสถียรภาพด้านราคา คุณภาพสินค้า
แม้ในปัจจุบันจะมีแบงก์รัฐช่วยดูแล ทั้ง ธ.ก.ส. ออมสิน และผ่านกองทุนอื่น เพื่อหาแนวทางดูแลอย่างครบวงจรทั้งด้านเงินทุน และที่ดินทำกิน เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรตัวจริงมักจะไม่มีทีดินเป็นของตนเอง จึงต้องการใช้ธนาคารที่ดินมาดูแลเพิ่มเติม ขณะที่ระบบประกันภัยพืชผลปัจจุบัน ประกันเฉพาะการทำนา จะขยายไปยังพืชเศรษฐกิจอื่นเพิ่มเติม โดยต้องปรับระบบตรวจสอบภายธรรมชาติทั้งภัยแล้ง อุทกภัย เมื่อหารือร่วมและเสนอกระทรวงคลังเพื่อสรุปแนวทางชัดเจน จึงเสนอ ครม.พิจารณา
นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แบงก์รัฐ ธ.ก.ส.และออมสินได้ เริ่มดำเนินการแก้ไขมาแล้ว 1 เดือน และเมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งคณะทำงานดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งการจับเจ้าหนี้นอกระบบรายเล็ก รายใหญ่ จึงทำให้มีผู้มาขอใบอนุญาต 200 ราย และได้อนุมัติไปแล้ว 50 ราย ยอมรับว่าเจ้าหนี้นอกระบบที่ยังสนใจปล่อยกู้หันมาอยู่ในระบบขอใบอนุญาตพิโค่ไฟแนนซ์ 20-30ราย เพราะมีรายได้ดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 36 ในต้นเดือนเมษายนนี้จะมีมาตรการออกมาดูแลหนี้นอกระบบเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ปลัดกระทรวงคลัง กล่าวอีกว่า การเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรับสวัสดิการแห่งรัฐ 3 เม.ย.นี้ สิทธิ์ประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ยังเป็นการลดภาระค่าน้ำประปา ไฟฟ้า รถเมล์ ส่วนที่ยังเสนอให้รัฐมนตรีคลังตัดสินใจ คือ การรดภาระค่าเช่าบ้าน ประกันภัย 99 บาท และการนำบัตรไปใช้ลดราคารถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังกระทรวงคลังอยู่ระหว่างศึกษาแยกสิทธิ์ประโยชน์ในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของคนต่างจังหวัดและคนกรุงเทพฯ เพราะใช้สิทธิ์แตกต่างกัน เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกแตกต่างกัน
ในอนาคตยังต้องแยกเป็นรายภาค รายจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ และต่อไปต้องทำแบบสอบถามจากประชาชนว่าต้องการให้ช่วยเหลือด้านใด เพราะแต่ละที่ต้องการไม่เหมือนกัน เนื่องจากปัจจุบันเป็นการเสนอความช่วยเหลือให้กับผู้ลงทะเบียนจากภาครัฐแต่ยังไม่ได้สอบถามความต้องการของประชาชน ในระยะยาวมองว่าผู้ลงทะเบียนจะมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง เพราะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจึงมีผู้ลงทะเบียนรับสวัสดิการลดลง.-สำนักข่าวไทย