ทำเนียบรัฐบาล 28 มี.ค. – ครม.เห็นชอบลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า หวังส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น 20,000-30,000 คัน ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยและเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) โดยลดอัตราภาษีลงกึ่งหนึ่งจากอัตราปกติ
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หากปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ปริมาณ 100 กรัม จัดเก็บภาษีร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 5 , หากปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ปริมาณ 100-150 กรัม จัดเก็บภาษีร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ลดจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 2 โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องผ่านการอนุมัติโครงการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และปีที่ 5 เป็นต้นไปต้องใช้แบตเตอรี่ผลิตในประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องของยานยนต์
นอกจากนี้ ครม.ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยสำนักงบประมาณส่งเสริมให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าประมาณร้อยละ 20 ของรถยนต์ใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.จัดซื้อมาให้บริการรถลีมูซีนในสนามบิน รวมทั้งส่วนราชการอื่น เช่น โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และเขตอุตทานประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าภาครัฐมีการสนับสนุนนโยบายรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า การส่งเสริมให้เจ้าของรถสามารถนำปลั๊กไฟฟ้าชาร์ตแบตเตอรี่ในบ้านช่วงกลางคืนได้ เพราะมีค่าไฟฟ้าต่ำกว่ากลางวัน
ครม.ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อการผลิตและใช้แบตเตอรี่ในประเทศ 5 ปีข้างหน้า ทั้งการตั้งสถานีเติมแบตเตอรี่ ปัจจุบันมีเงินอุดหนุนให้ส่วนราชการตั้งสถานีโดยชดเชยเงินร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนเอกชนอุดหนุนร้อยละ 75 เพื่อกระจายการตั้งสถานีในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ สูงขึ้น ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้ดำเนินโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพื่อเป็นพื้นฐานในการต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุนในการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะเปิดดำเนินการในเฟสแรกภายในเดือนมีนาคม 2561 คาดว่าในช่วง 5 ปี ข้างหน้าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าใช้ในประเทศประมาณ 20,000-30,000 คัน เกิดการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท และหากค่ายรถยนต์ผลิตรถไฟฟ้าและมีผู้ใช้มากขึ้นจะทำให้ราคาปรับลดลงได้ในอนาคต.-สำนักข่าวไทย