สธ. 27 มี.ค.-กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย รุกนำ โยคะฝึกผู้ต้องขังหญิง หลังนำร่องในเรือนจำกลางราชบุรีและอุดรธานี ได้ผลดี ช่วยผ่อนคลายความกดดัน ทำให้จิตใจละเอียดอ่อน หลายรายถึงระดับไปแข่งขันในเวทีนานาชาติ ได้รับรางวัลสร้างชื่อเสียง ให้ประเทศอย่างต่อเนื่อง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้ลงเสริมสุขภาพ(สสส.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมราชทัณฑ์ ร่วมจัดงานประชุมขับเคลื่อนนโยบายเรือนจำสุขภาวะ เรื่อง เรือนจำสุขภาวะ จากพื้นที่แห่งการลงโทษสู่ชุมชนแห่งความห่วงใย โดย รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม กล่าวว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามจะ ทำเรือนจำที่มุ่งสร้างเสริมให้ผู้ต้องขังมีสุขภาวะอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน คือกฎระเบียบในเรือนจำจะต้องไม่เป็นเงื่อนไขที่ ผลัก หรือกีดกัน การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆตามที่ควรจะได้รับ จึงได้เสนอแนวคิดการพัฒนาเรือนจำจากพื้นที่แห่งการลงโทษเป็นชุมชนแห่งความห่วงใย คือการสร้างเรือนจำให้เป็นพื้นที่ให้เกิดสุขภาวะต่อผู้ต้องขัง ให้เกิดขึ้นได้จริงโดยเฉพาะในพื้นที่แดนหญิง เนื่องจากมีความแออัดเป็นอย่างมาก เพราะต้องไปแบ่งพื้นที่อยู่ร่วมกับนักโทษชาย ทำให้ความเป็นอยู่ลำบาก รวมถึงโรค และข้อจำกัดของความเป็นผู้หญิง จึงเกิดความเครียดความกดดันมากกว่านักโทษชายเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงนำกีฬา โยคะ ไปฝึกให้ผู้ต้องขังหญิง นำร่องในเรือนจำกลางราชบุรี และเรือนจำกลางอุดรธานี เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว คือในปี 2554 ผลปรากฎสามารถช่วยผ่อนคลายความกดดัน สร้างความละเอียดอ่อนในจิตใจผู้ต้องขังหญิงได้อย่างมาก และได้รับการตอบรับดี จนหลายคนที่ฝึกสามารถไปแข่งขันในเวทีนานชาติจนได้รับรางวัลสร้างชื่อเสียง ให้แก่ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ค่อยเป็นที่ทราบในสังคมไทย ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง และสังคมในเรือนจำได้เป็นอย่างมาก
ด้านนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายวิชาการ กล่าวยอมรับว่า พื้นที่ในเรื่อนจำที่จัดไว้ให้แก่ผู้ต้องขังหญิงค่อนข้างมีจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะเรือนจำสร้างมานาน ไม่ได้รองรับการขยายตัวของผู้ต้องขัง ทำให้นักโทษหญิง ต้องแบ่งพื้นที่กับนักโทษชาย ทำให้ความเป็นอยู่อึดอัด และส่งผลต่อสภาวะทางร่างกายและจิตใจ แม้กรมฯพยายามหากิจกรรมการเรียนต่างๆมาช่วยเหลือก็ยังไม่เป็นที่เพียงพอ เมื่อ สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวทำเรื่องนำ โยคะ เข้ามาในเรือนจำพบว่าจิตใจของผู้ต้องขังหญิง ทั้งที่ราชบุรี และอุดรธานี ดีขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนเหตุใดที่ยังไม่สามารถขยายได้ เพราะว่าจำนวนครูสอนในแต่ละพื้นที่ค่อนข้างมีจำกัดและงบประมาณสนับสนุนยังไม่มากพอ แต่กรมใช้วิธีการให้เรือนจำทั่วประเทศแจ้งให้ผู้ต้องขังหญิงที่มีอยู่กว่าหมื่นคนทั่วประเทศหากใครสนใจ ให้แจ้งและทำเรื่องย้ายไประจำได้ที่เรือนจำราชบุรี หรืออุดรธานีแทน ที่ผ่านมาก็เริ่มมีผู้สนใจบ้าง
พร้อมกันนี้ได้แจ้งไปยังเรือนจำทั่วประเทศว่าหากที่ใดสนใจ และมีความพร้อมนำหลักสูตรนี้ไปใช้ ก็สามารถทำได้เลย และในอนาคตเตรียมจะขยายกิจกรรมนี้ไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อต้องการฝึกให้ผู้ต้องขังมีสภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง มีสมาธิขึ้นเหมือนเช่นที่ทำสำเร็จในราชบุรี และอุดรธานีมาแล้ว.-สำนักข่าวไทย