นนทบุรี 12 มี.ค. – นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ขณะนี้มีคำขอสิทธิบัตรค้างมากถึง 36,000 คำขอทั้งสิทธิบัตรของคนไทยและต่างชาติ แต่เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ดูแลเรื่องนี้มีเพียง 24 คนเท่านั้น ดังนั้น
จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 และอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดและความจำเป็นของ คสช.ที่จะประกาศใช้มาตราดังกล่าว ซึ่งทางกรมฯเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาการออกสิทธิบัตรด้วยการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้อีก 120 คนที่จะต้องนำมาฝึกฝนให้มีความเชี่ยวชาญภายในเวลา 2 ปีถือเป็นขั้นตอนอย่างเร็ว แต่หากใช้ขั้นตอนตามปกติกว่าจะได้บุคคลกรตามจำนวนดังกล่าวและต้องผ่านการฝึกฝนอาจต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี จะทำให้การพิจารณาสิทธิบัตรในด้านต่างๆล่าช้าตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการใช้มาตรการพิเศษดังกล่าวจะเน้นใช้เพื่อเร่งการพิจาณาคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่กว่า 36,000 คำขอ โดยเป็นสิทธิบัตรในด้านนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ทุกด้าน เช่น ด้านเคมีวิศวกรรม ฟิสิกส์ ไฟฟ้า รวมถึงสิทธิบัตรยาที่ได้ยื่นคำขอเกินกว่า 5 ปีมาแล้ว ดังนั้น ข้อกังวลมีคำขอสิทธิบัตรยาที่ค้างการพิจารณา 3,000 คำขอในการรับจดสิทธิบัตรยาจะพิจารณารับจดเฉพาะยาใหม่ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่ยาเก่าจะไม่มีการรับจดสิทธิบัตรอยู่แล้ว ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมที่จะให้ความร่วมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการส่วนข้อกังวลเรื่องสิทธิบัตรยานั้น ทางคณะกรรมการอาหารและยา(อ.ย.) กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ตรวจสอบอีกครั้งว่าจะให้ขึ้นทะเบียนยาได้หรือไม่ ส่วนราคายา กระทรวงพาณิชย์ มีมาตรการดูแลราคายาโดยมีกฎหมายควบคุมราคาสินค้ากำกับอยู่แล้ว และหากเป็นยาที่จำเป็นและมีราคาแพงที่มาจากต้นทุนในด้านต่างๆที่สูงมากทางกรมการค้าภายในจะเชิญผู้ประกอบการมาต่อรอง เพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรมไม่ให้เกิดเอาระดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาขอยืนยันว่ามาตรการนี้จะใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะหากเทียบการทำงานในการตรวจรับคำขอที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ เจ้าหน้าที่ 1 คนต้องตรวจสอบคำขอถึง 325 คำขอ หากเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน เช่น มาเลเซีย 110 คนต่อ 77 คำขอ ฟิลิปปินส์ 49 คนต่อ 83 คำขอ เวียดนาม 58 คนต่อ 77 คำขอ ดังนั้น การเพิ่มบุคลากรจะช่วยให้การพิจารณาสิทธิบัตรทำได้เร็วขึ้น และจะใช้วิธีตรวจสอบที่มีการยื่นคำขอไว้แล้วในต่างประเทศว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่มีการตรวจสอบแล้วมาอ้างอิงจะช่วยทำให้การตรวจสอบและการออกสิทธิบัตรทำได้เร็วขึ้นอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย