ปภ. 19 ม.ค.-อธิบดี ปภ. เผยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด ส่วนอีก 7 จังหวัดยังคงมีน้ำท่วมบางพื้นที่ เตือน 9 จังหวัดเสี่ยงภัยฝนระลอกใหม่ 19 ม.ค.นี้ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักและฝนตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และกระบี่ ส่วนอีก 7 จังหวัด ภาพรวมน้ำเริ่มลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมบางพื้นที่ ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง สงขลา และชุมพร รวม 37 อำเภอ 174 ตำบล 1,140 หมู่บ้าน โดยตั้งแต่เกิดเหตุอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ส่งผลให้มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด รวม 122 อำเภอ 755 ตำบล 5,812 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 549,333 ครัวเรือน 1,681,195 คน ผู้เสียชีวิต 45 ราย สถานที่ราชการเสียหาย 24 แห่ง ถนน 2,267 จุด คอสะพาน 207 แห่ง
นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า โดย จ.นครศรีธรรมราช มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร อำเภอปากพนัง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอถ้ำพรรณรา และอำเภอพระพรหม รวม 72 ตำบล 629 หมู่บ้าน 84 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 145,294 ครัวเรือน 460,270 คน ผู้เสียชีวิต 11 ราย จ.สุราษฎร์ธานี มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม อำเภอพุนพิน และอำเภอพระแสง รวม 12 ตำบล 32 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,179 ครัวเรือน 7,162 คน ประชาชนอพยพ 113 ครัวเรือน 348 คน ผู้เสียชีวิต 10 ราย
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ส่วน จ.พัทลุง มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอเขาชัยสน และอำเภอบางแก้ว รวม 6 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,274 ครัวเรือน 64,018 คน ผู้เสียชีวิต 5 ราย ขณะที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางสะพาน อำเภอทับสะแก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอบางสะพานน้อย รวม 23 ตำบล 240 หมู่บ้าน 2 เทศบาล 25 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,810 ครัวเรือน 66,486 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย ส่วน จ.ตรัง มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด และอำเภอวังวิเศษ รวม 16 ตำบล 41 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,182 ครัวเรือน 36,535 คน อพยพ 341 ครัวเรือน 1,166 คน ผู้เสียชีวิต 2 ราย จ.สงขลา มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอควนเนียง อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด รวม 15 ตำบล 82 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,880 ครัวเรือน 26,715 คน อพยพ 19 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย และ จ.ชุมพร มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอละแม อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ อำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี และอำเภอเมืองชุมพร รวม 30 ตำบล 99 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,024 ครัวเรือน 1,095 คน
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติ โดยทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งสาธารณประโยชน์ สถานที่ราชการ และซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค รวมถึงเส้นทางคมนาคมให้ใช้งานได้ตามปกติ และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยที่ครอบคลุมทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิต และทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนอีกระลอกจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2560 ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง ฝนตกหนักและหนักมากบางแห่งในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล ปภ.จึงได้ประสาน 9 จังหวัดเสี่ยงภัยและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย