ปภ. 2 พ.ค. – อธิบดี ปภ. รับทดสอบระบบ CBS วันแรก สัญญาณล้ำไปพื้นที่ใกล้เคียงบ้าง บอกผู้ใช้ระบบ 2G และ 3G ไม่ต้องกังวล ได้รับ SMS เตือนภายใน 10 นาที ควบคู่ไปกับระบบ CBS เผยทดสอบระบบครั้งใหญ่ทั่วประเทศไม่เกินเดือน ก.ค.นี้
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้สัมภาษณ์ภายหลังทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Cell Broadcast (CBS) ระดับเล็ก พื้นที่ภายในอาคาร โดยจำลองสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งจะครอบคลุม 5 พื้นที่ คือ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดสงขลา และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร A และ B จะมีการนำไปปรับปรุงในการทดสอบอีกสองระดับอย่างไรว่า วันนี้เป็นการทดสอบขนาดเล็ก ต้องการดูประสิทธิภาพของผู้ให้บริการว่าการครอบคลุมพื้นที่เป็นไปตามที่เรากำหนดหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าสัญญาณอาจจะล้นไปพื้นที่ใกล้เคียงบ้าง เนื่องจากตัวสัญญาณเครือข่ายยังไม่ครอบคลุมในส่วนภูมิภาค ในรัศมี 1.5 กิโลเมตร ในพื้นที่ที่เราทดสอบ
ส่วนสัญญาณ CBS มีข้อเสียอย่างไรบ้างนั้น นายภาสกร กล่าวว่า วันนี้เป็นการทดสอบระบบครั้งแรก สิ่งที่กังวลคือคนที่ไม่เคยได้ยินเสียงแจ้งเตือนจะตกใจ แต่ได้มีการประชาสัมพันธ์ไปล่วงหน้าแล้ว มั่นใจว่าประชาชนทุกคน จะรับทราบการส่งข้อมูลดังกล่าว แต่ระบบการส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูง จำเป็นจะต้องรองรับกับโทรศัพท์ที่มีการอัปเดตเวอร์ชั่นโทรศัพท์ โดยแอนดรอยด์อัปเวอร์ชั่นเป็น 11 ที่มีคนใช้อยู่ 70 ล้านเลขหมาย และระบบ iOS ที่ต้องอัปเดตเวอร์ชั่นเป็น 18 มีผู้ใช้บริการประมาณ 50 ล้านเลขหมาย ส่วนประชาชนที่ยังใช้บริการเครือข่าย 2G และ 3G มีเพียง 3 ล้านเลขหมาย จะได้รับข้อความแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS ไม่เกิน 10 นาที ซึ่งเราจะส่งการแจ้งเตือนผ่าน CBS และ SMS คู่ขนานกันไป เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลครบถ้วน และระบบ Cell Broadcast จะสมบูรณ์ สามารถใช้งานได้ภายในเดือนกรกฎาคม และประเทศไทยจะมีระบบแจ้งเตือนภัยที่ทันสมัยไม่แพ้ประเทศใดในโลก
เมื่อถามว่าถ้าเกิดเหตุฉับพลัน เช่น น้ำป่าไหลหลาก กระบวนการจะสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ นายภาสกร กล่าวว่า เรามีข้อปฏิบัติหลักประจำคือ SOP ที่กำหนดไว้ว่าการได้รับข้อมูลข่าวสาร ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ประกอบแห่งชาติ เป็นหน่วยกลางในการจัดการสาธารณภัย เพื่อแจ้งเตือนภัยประชาชน ส่วนข้อมูลจะมาจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เรื่องดินฟ้าอากาศ เป็นส่วนของกรมอุตุนิยมวิทยา, เรื่องแผ่นดินไหว เป็นส่วนของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว
นอกจากนี้ยังมีกรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. กรมชลประธาน ที่จะมีทั้งผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเครื่องมือในการวัดมาตรน้ำ ซึ่งหน่วยราชการเหล่านี้เป็นหน่วยงานเบื้องต้นที่จะส่งข้อมูลให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนทาง ปภ. มีหน้าที่รับข้อมูลข่าว วิเคราะห์ข่าว และกระจายข่าว เพราะฉะนั้น ปภ. เมื่อรับข้อมูลมาจะเร่งดำเนินการตามภายนั้นๆ ในกรณีที่ไม่รุนแรงถึงขนาดแจ้งเตือนประชาชน ก็จะเป็นลักษณะในการรายงานข่าวตามช่องทางต่างๆ แต่หากเป็นกรณีที่มีความฉุกเฉิน หรือรุนแรง กรณีน้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมเฉียบพลัน ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จำเป็นที่จะต้องแจ้งเตือนประชาชนสามารถใช้ Cell Broadcast ส่งได้ทันที
ส่วนการทดสอบระดับแจ้งเตือนภัยทั้งประเทศ นายภาสกร กล่าวว่า หลังจากที่เราได้ดำเนินการไปทั้ง 3 ระดับ และดูความพร้อม กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจะมีการเชื่อมระบบทั้งภาคส่งคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และภาครับคือ ผู้ให้บริการทั้ง 3 ค่าย ที่เรียกว่า Cell Broadcast เซ็นเตอร์ ซึ่งที่มีการทดลองสถานการณ์ระดับเล็กเป็นการส่งข้อความผ่านทางไลน์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเป็นคนกดส่ง แต่เมื่อระบบสมบูรณ์แล้วจะส่งที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเอง จะลดขั้นตอนของผู้ให้บริการ เมื่อเรากดส่งไปข้อมูลที่ส่งถึงประชาชน ในเวลาไม่เกิน 1 นาที
เมื่อถามย้ำว่าจะสามารถทดสอบระบบทั้งประเทศได้ทันภายในเดือนพฤษภาคมหรือไม่ นายภาสกร กล่าวว่า คาดว่าหลังจากได้ดำเนินการครบถ้วนสมบูรณ์แล้วคาดว่าก่อนเดือนกรกฎาคม จะมีการทดสอบระบบใหญ่ทั้งประเทศอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งสุดท้าย.-319-สำนักข่าวไทย