ทำเนียบฯ 7 ก.พ. – ครม.เห็นชอบพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้เกษตรกรประสบอุทกภัยพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นระยะเวลา 2 ปี คาดช่วยเหลือเกษตรกรได้กว่า 200,000 ราย ผ่าน 3 แบงก์รัฐ 5 โครงการเงินช่วยเหลือ 31,500 ล้านบาท
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นเเละลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2559/2560 เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินและลดต้นทุนการประกอบอาชีพของเกษตรกร โดยความช่วยเหลือผ่าน 3 แบงก์รัฐทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านหนี้สินและสามารถฟื้นฟูกลับมาประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม สำหรับ ลูกค้า ธ.ก.ส.สามารถนำเงินไปปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งมีเงินเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน พร้อมขยายระยะเวลาชำระคืนต้นเงินกู้ออกไปไม่เกิน 2 ปี นับจากงวดชำระเดิม ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง แต่เกษตรกรจะต้องส่งชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2560
ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรที่ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) งดคิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 – 31ธันวาคม 2561 วงเงินกู้รายละไม่เกิน 300,000 บาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.ร้อยละ 5 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี ยอดเงิน 1,965 ล้านบาท ขณะที่ ธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกรร้อยละ 2 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้ คาดว่าเกษตรกรจะได้รับประโยชน์ 212,850 ราย ส่วนเกษตรกรที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล ธ.ก.ส.งดคิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปีเช่นกัน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 300,000 บาท โดย ธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ยทั้งหมดแทนเกษตรกร ทั้งนี้ จะมีเกษตรกรได้ประโยชน์ 9,150 ราย ยอดเงินโครงการทั้งหมด 3,931 ล้านบาท นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังให้สินเชื่อสำหรับการใช้จ่ายฉุกเฉิน 200,000 บาท ระยะเวลา 3 ปี ไม่คิดดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรก เตรียมวงเงิน 10,000 ล้านบาท จากนั้นยังมีสินเชื่อสำหรับการฟื้นฟูอาชีพ กลุ่มเป้าหมาย 50,000 ราย วงเงินไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย ช่วง 4 ปีแรก คิดดอกเบี้ย MRR-2 วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท
ธนาคารออมสินเตรียมสินเชื่อประชารัฐเพื่อฟื้นฟูอาชีพ วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย ระยะเวลา 5 ปี ช่วงปีแรกไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ปีที่ 2 คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน โดยใช้บุคคลค้ำประกันหรือ บสย.ค้ำประกัน เตรียมวงเงินรองรับ 4,000 ล้านบาท โดยไม่ยื่นรัฐบาลจ่ายชดเชยและยังมีสินเชื่อสำหรับฟื้นฟูให้กับเอสเอ็มอีวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี อัตราดอกเบี้ย MLR -2 (6.5%) วงเงิน 2,500 ล้านบาท สำหรับเอสเอ็มอีแบงก์เตรียมสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีฟื้นฟูกิจการวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลา 7 ปี ช่วง 1-3 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 โดยยื่นขอรับการชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 วงเงิน 5,000 ล้านบาท ยอดรวม 5 โครงการผ่าน 3 แบงก์รัฐประมาณ 31,500 ล้านบาท รัฐบาลให้การชดเชยภาระดอกเบี้ยประมาณ 2,025 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย