ทำเนียบฯ 21 ก.พ. – ครม.เห็นชอบแผนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ มอบธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท คาดช่วยรายย่อย 200,000 คน พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีกดปุ่ม 1 มีนาคมนี้
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการสินเชื่อรายย่อย เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบกรณีฉุกเฉินสำหรับบรรเทาปัญหาหรือประกอบอาชีพ ห้ามนำไปรีไฟแนนซ์ในระบบ โดยมอบหมายให้ทางธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ดำเนินการปล่อยกู้วงเงินธนาคารละ 5,000 ล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อโครงการ 10,000 ล้านบาท แบงก์รัฐทั้ง 2 แห่งใช้วงเงินของทั้ง 2 ธนาคารดำเนินการเอง โดยยอดหนี้ทั้งหมดขณะนี้ 123,240 ล้านบาท คาดช่วยเหลือรายย่อยประมาณ 200,000 ราย
ทั้งนี้ กำหนดปล่อยกู้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย คิดดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.85 ต่อเดือน หรือร้อยละ 10 ต่อปี ใช้บุคคลค้ำประกันหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีความเสียหายของพอร์ตของธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.สัดส่วนร้อยละ 25 ของพอร์ตทั้งหมด รัฐบาลชดเชยร้อยละ 10 หากเกิดปัญหาเอ็นพีแอลมีความเสียหายสัดส่วนร้อยละ 25-37.5 ของพอร์ตทั้งหมด รัฐบาลชดเชยร้อยละ 70 หากเกิดปัญหาเอ็นพีแอลมีความเสียหายสัดส่วนร้อยละ 37.5-50 ของพอร์ตทั้งหมด รัฐบาลชดเชยร้อยละ 50 เฉลี่ยแล้วรัฐบาลชดเชยคืนให้ร้อยละ 40 ของความเสียหาย โดยรัฐบาลพร้อมชดเชยค่าเสียหายหากเอ็นพีแอลไม่เกินวงเงิน 4,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อขอสินเชื่อดังกล่าวได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปกับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมเดินทางไปร่วมกดปุ่มแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เริ่มโครงการเปิดตัวโครงการสินเชื่อรายย่อยวันที่ 1 มีนาคม เมืองทองธานี หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลเสนอกฎหมายการทวงถามหนี้ ห้ามข่มขู่ลูกหนี้ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท การอนุญาตให้ดำเนินการไมโครไฟแนนซ์ พิโคไฟแนนซ์ การประนอมหนี้ เพื่อดูแลการช่วยเหลือหนี้นอกระบบอย่างครบวงจร.-สำนักข่าวไทย