กทม. 7 ก.พ. – หลังจากรถโดยสารด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงวันนี้เกือบ 7 ปีแล้ว แต่บีอาร์ทีประสบปัญหาขาดทุนปีละกว่า 200 ล้านบาท เนื่องจากมีผู้ใช้บริการน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีการศึกษาว่าโครงการนี้ไม่ได้แก้ปัญหาการจราจรได้
กว่า 7 ปีที่โครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) เปิดให้บริการกับประชาชนเส้นทางสาทร-ราชพฤกษ์ ระยะทาง 16 กิโลเมตร กำลังจะยุติการให้บริการลงในวันที่ 30 เมษายนนี้ หลังครบสัญญาการเดินรถกับเอกชน โดยตั้งแต่เปิดการเดินรถบีอาร์ทีขาดทุนปีละกว่า 200 ล้านบาท
สมาชิกสภากรุงเทพ ในฐานะประธานกรรมการศึกษาและทบทวนโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ให้ข้อมูลว่า ผลการศึกษาพบโครงการนี้เป็นระบบเสริม เชื่อมต่อกับระบบหลัก เริ่มโครงการสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. เมื่อเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา กลับไม่มีผู้โดยสารจำนวนตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ปัจจุบันบีอาร์ทีมีผู้ใช้รวมต่อวันกว่า 20,000 คน ทั้งที่แรกเริ่มก่อนสร้าง มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาประเมินจำนวนผู้โดยสารว่าจะมีมากถึง 35,000 คน และต้องเก็บค่าโดยสารเฉลี่ย 15-20 บาท ภายใน 3 ปี จึงจะถึงจุดคุ้มทุน แต่เมื่อเปิดใช้ ผู้โดยสารกลับน้อยกว่าที่คาดนับหมื่นคน และเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 10 บาท ต่อมายังปรับลดราคาลงอีกเหลือเพียง 5 บาทตลอดสาย นักเรียนและผู้สูงอายุนั่งฟรี ทำให้เกิดการขาดทุนสะสม
โครงการนี้ใช้เงินลงทุนไปกว่า 2,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในส่วนของโครงสร้างอาคารสถานี 1,500 ล้านบาท อีกทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินยังเคยมีหนังสือให้ทบทวนและยุติโครงนี้มาถึง กทม.ถึง 2 ครั้ง เพราะไม่คุ้มทุนและเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณ
ผู้โดยสารร้อยละ 30 ของบีอาร์ที เป็นนักเรียน นักศึกษา จึงมีผู้ใช้กลุ่มนี้หนาแน่นในช่วงเช้าและเย็น ส่วนช่วงเวลากลางวันจะมีผู้ใช้บริการค่อนข้างบางตา ขณะที่เสียงของผู้ใช้บีอาร์ที กล่าวตรงกันว่าไม่ต้องการให้ยุติให้บริการ เพราะโดยปกติเส้นทางสายสาทร-ราชพฤกษ์ มีรถประจำทางวิ่งน้อยไม่มีทางเลือกมาก อย่างคนนี้ใช้บริการเป็นประจำจากบ้านในซอยนราธิวาสฯ ไปสีลม ใช้เวลาเพียง 30- 40 นาที เธอย้ำว่าแม้ในช่วงรถติด หรือมีรถมาแทรกเลนบ้าง บีอาร์ทีก็ยังใช้เวลาน้อยกว่าการนั่งรถเมล์ทั่วไป
ล่าสุด วันนี้ (7 ก.พ.60) หลังจากสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ประชุมหารือกับบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัทเอกชนที่ได้รับสัญญาให้จัดการเดินรถ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า หลังจากยุติการให้บริการรถบีอาร์ที 25 คัน ที่เอกชนเป็นผู้จัดหารมาดำเนินการ เมื่อสิ้นสุดสัญญา รถต้องคืนให้กับเอกชนกลับไปดำเนินการ ส่วนโครงสร้างสถานีมีแผนที่อาจนำไปปรับใช้กับโครงการขนส่งมวลชนของ กทม.อื่นๆ ในอนาคต. – สำนักข่าวไทย