สพฉ.23ก.พ.-รองเลขาฯสพฉ.แจงอีกครั้งเหตุการณ์อดีตนักฟุตบอลทีมชาติเสียชีวิตในสนามกีฬา สธ.พร้อมย้ำสายด่วน 1669 ระบบพร้อมช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการรักษาทันท่วงที เปิดสถิติปี59 ช่วยได้กว่า1.6 ล้านคน
นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)ชี้แจงอีกครั้งถึงกรณีที่นายบุญธรรม บูรณธรรมานันท์ อดีตกองหลังทีมชาติไทย หัวใจวายระหว่างการฝึกซ้อมฟุตบอล ในสนามกีฬากระทรวงสาธารณสุขและเสียชีวิต ว่า ในเบื้องต้นเมื่อมีการโทรเข้ามาที่ระบบ 1669 โดยมาตรฐานจะมีบันทึกเวลาทุกนาทีเมื่อมีการติดต่อ รับโทรศัพท์หรือการปล่อยรถพยาบาล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ในระบบได้บันทึกไว้ว่าศูนย์ฯ1669 ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือในเวลา 17.23 น.และประสานไปยังโรงพยาบาล(รพ.)ที่ใกล้ที่สุดคือรพ.บำราศนราดูรเวลา17.24 น.และภายใน 2-3 นาทีรถ รพ.ก็ออกมาเพื่อรับตัวผู้ป่วย แต่เมื่อรถออกมาแล้วญาติได้นำตัวผู้ป่วยส่งไปยัง รพ.เอง รถพยาบาลเลยไม่ได้เข้าถึงจุดเกิดเหตุเพราะมีการนำตัวผู้ป่วยออกมาก่อนแล้ว
ส่วนที่มีข่าวว่าวิ่งมาขอความช่วยเหลือที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ที่สุดขณะนั้นเท่าที่รับทราบข้อมูลคือญาติหรือเพื่อนผู้เสียชีวิตวิ่งมาที่ด้านล่างตึกสพฉ.และพนักงานรักษาความปลอดภัยรีบวิ่งมาบอกศูนย์สื่อสารสั่งการที่ชั้น 2ทันทีและสิ่งที่ศูนย์ทำอันดับแรกคือรีบโทรแจ้งศูนย์สั่งการที่จ.นนทบุรีเพื่อให้ส่งรถส่งอุปกรณ์ที่มีความพร้อมมารับตัวผู้ป่วย ขณะเดียวกันก็เตรียมวิ่งออกไปช่วยผู้ป่วยที่จุดเกิดเหตุ พร้อมเครื่อง AED ที่มีอยู่แล้วด้วย ซึ่งระหว่างกำลังจะเข้าให้การช่วยเหลือก็ได้รับแจ้งจากวิทยุเช่นกันว่าได้มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออก ไปแล้ว เพราะเวลาที่มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกระทรวงสาธารณสุขก็จะมีระบบรักษาความปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่อยู่จุดเกิดเหตุและเมื่อมีการตัดสินใจย้ายเจ้าหน้าที่ก็เคลียร์ผ่านวิทยุว่าจะมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็อยู่ในข่ายวิทยุนั้น ก็ได้ยินว่าผู้ป่วยออกไปแล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ยิน ก็ไม่ได้ลงไปตรงจุดเกิดเหตุตรงนั้นแต่ไม่ได้นิ่งเฉยประสาน สอบถามไปที่รพ.บำราศนราดูร แจ้งว่าผู้ป่วยไปถึงเวลา17.30น.แต่เวลาที่วิ่งมาขอความช่วยเหลือที่ตึก สพฉ.ก็ประมาณ 17.30 น.ซึ่งตอนที่ตัดสินใจแจ้งคือตอนที่มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกไปแล้วคาดว่าเพื่อนส่วนหนึ่งคงวิ่งมาแจ้งและอีกส่วนหนึ่งก็ปฐมพยาบาลและนำส่งรพ.ด้วยตนเองซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อนในช่วงเวลาที่ไม่พอดีกัน
อย่างไรก็ตามที่พบเห็นบ่อยมากสำหรับการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินคือทั่วไปเมื่อเจอผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้ป่วยวิกฤตลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเข้าไปช่วยผู้ป่วยก่อน ซึ่งใช้เวลาเป็น10 กว่านาที พอรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วถึงจะเริ่มโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ ซึ่งเวลาที่เสียไปก็นานพอสมควร โดยหลักการมาตรฐานเลยเมื่อพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น ต้องโทรแจ้งสายด่วน 1669 ก่อนเพื่อให้เจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญเข้าให้การช่วยเหลือเร็วที่สุด ดังนั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นนี้จุดที่1.คืออาจตัดสินใจโทรแจ้งสายด่วน1669ช้า ซึ่งไม่ใช่ความผิดใครหากแต่จะทำให้นำกลับมาปรับปรุงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่าเมื่อพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินผู้ประสบเหตุต้องโทรสายด่วน 1669 ก่อนแล้วเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย
ทั้งนี้ จากสถิติในแต่ละปีมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ใช้บริการผ่านสายด่วน 1669 เป็นล้านคน โดย 4 ปีที่ผ่านมาสถิติการใช้งานสายด่วน 1669 ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ปี 2559 สถิติผู้ใช้บริการผ่านสายด่วน 1669 ถึง1,169,136 คนซึ่งระบบกำลังพัฒนาไปได้ด้วยดี ประชาชนรู้จักสายด่วนมากขึ้นและก็ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้นด้วย
“ต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้ป่วยและญาติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้งเรามีหน้าที่ค้นหาว่าจุดอ่อนของระบบคืออะไรและก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ สพฉ.ไม่ได้เพิกเฉย พร้อมและเตรียมตัวจะออกไปให้การช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่เป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ทำให้เวลาไม่พอดีกัน และส่วนระบบในการภาพรวมของการสั่งการ ตามตัวเลขที่มีถือว่าระบบไปได้ด้วยดี สิ่งที่จะต้องค้นหาต่อไปคือก่อน 17.23 น.ได้มีการโทรแจ้งมาที่สายด่วน 1669 หรือไม่ และหากแจ้งแล้วเกิดอะไรขึ้นระหว่างนั้นเพื่อที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงและนำกลับมาพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” รองเลขาฯสพฉ.กล่าว .-สำนักข่าวไทย