กรุงเทพฯ 6 ม.ค. – สพฉ.ตั้งทีมสอบสวน ดำเนินการเอาผิดมูลนิธิเพชรเกษม ฝ่าฝืน ให้การปฐมพยาบาลและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก สพฉ. และเตรียมประสานหน่วยงาน ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพ ออกหนังสือยุติการปฏิบัติหน้าที่ของอาสามูลนิธิเพชรเกษมในเขตกรุงเทพมหานคร
จากข้อร้องเรียนของญาติผู้ป่วยฉุกเฉินรายหนึ่งว่า ซึ่งเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2567 โทรแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินผ่าน 1669 ซึ่งมีการประเมินอาการ ว่าเป็นเคสที่ต้องใช้รถพยาบาลขั้นสูงเข้าไปดูแล แต่กลับมีอาสาสมัครมูลนิธิแห่งหนึ่งใส่ชุดสีแดง เข้าไปประเมินอาการ และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาล นำส่งโรงพยาบาลจนทำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาล่าช้า
เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แถลงกรณีตรวจสอบข้อร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งหลังรับเรื่อง ได้ส่งทีมสอบสวนลงเก็บข้อมูลพยานหลักฐานจากผู้เกี่ยวข้องทั้งอาสามูลนิธิฯ ญาติผู้ป่วย และศูนย์ข้อมูลเอราวัญ และสายด่วน 1669 จนทราบว่า ในกรณีที่เกิดขึ้น เป็นการออกปฏิบัติงานช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิดตามระเบียบ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน 2551 มาตรา 30,31,32 ซึ่งมีโทษปรับ ไม่เกิน 1 แสน โดยจากการตรวจสอบมูลนิธิเพชรเกษมมีการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิถูกต้องในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดปทุมธานี แต่การออกให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีการยื่นขอจดทะเบียนจึงไม่สามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือด้านการแพทย์ในพื้นที่ได้
ด้านนายไพศาล ก้อนจำปา ผู้ช่วยเลขา สพฉ. กล่าวว่า ในการตรวจสอบข้อมูลการออกให้บริการของมูลนิธิเพชรเกษมครั้งนี้ ยอมรับว่าในระบบสายด่วนการโทรแจ้งขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ 1669 มีข้อมูลรั่วไหลทำให้มูลนิธิ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเครือข่ายพื้นที่กรุงเทพมหานครได้รับข้อมูลของผู้ป่วยและออกให้บริการ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบรายละเอียด
อย่างไรก็ตาม เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่าข้อมูลในปัจจุบันมีมูลนิธิที่ขอขึ้นทะเบียนเพื่อการให้บริการช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 8 มูลนิธิ ซึ่งเพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือช่วยเหลือ ดังนั้น สพฉ.เตรียมประสานศูนย์เอราวัณฯ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อออกหนังสือถึงมูลนิธิเพชรเกษมให้หยุดการออกปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ และจะนำข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพื่อยื่นดำเนินการกับทางมูลนิธิเพชรเกษมพร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย เช่นกรณีการลักลอบใช้คลื่นวิทยุ การนำข้อมูลผู้ป่วยไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาต และเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวในระยะยาว สพฉ. ได้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์สำหรับการรับแจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่จะเปิดใช้ในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยรถมูลนิธิที่ออกให้บริการได้ตลอดเวลา
แต่ในระหว่างนี้หากผู้ป่วยต้องการรับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งประสาน 1669 ได้ และสามารถตรวจสอบข้อมูลของอาสาหรือมูลนิธิที่ให้การช่วยเหลือ ผ่านสายด่วน 1669 ได้เช่นกัน เพื่อให้มั่นใจว่า ทีมอาสาสมัครเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก สพฉ. แล้ว. -414-สำนักข่าวไทย