3 ต.ค. – สพฉ.แจงกรณีรวมเบอร์สายด่วนฉุกเฉิน 1669 เปลี่ยนไปใช้เบอร์ 191 ยันระบบใหม่จะส่งต่อข้อมูลรวดเร็วขึ้น-โชว์พิกัดผู้แจ้ง
ร.อ.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงการควบรวมหมายเลขฉุกเฉิน 1669 ไปใช้หมายเลขฉุกเฉิน 191 ร่วมกับตำรวจ ก่อนอื่นขอชี้แจงว่า สพฉ.ไม่ได้มีการยุบ 1669 ตามที่บางสื่อใช้คำว่ายุบ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด แต่เป็นการพัฒนายกระดับสายด่วน 1669 ให้บริการประชาชนได้สะดวกขึ้น
ส่วนความคืบหน้า ยังไม่ทราบทางฝั่งตำรวจชัดเจนว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว แต่ในระหว่างนี้ทางฝั่งของ สพฉ.ก็มีการพัฒนาระบบให้เป็นดิจิทัลเพื่อรอการไปเชื่อมกับ 191ในอนาคต ย้ำว่าปัจจุบันการดำเนินการ ศูนย์ฯ 1669 ยังมีอยู่ทั่วประเทศเหมือนเดิมอย่างกว่า 80 ศูนย์ และมีหน่วยบริการที่ให้บริการประชาชนก็ยังมีเหมือนเดิม แต่สิ่งที่แตกต่างเมื่อมีการพัฒนาระบบ คือจะทำให้หน่วยต่างๆ และผู้ปฏิบัติงานให้เป็นดิจิทัล
เลขาฯ สพฉ. กล่าวด้วยว่าหากเริ่มดำเนินการรวมหมายเลขฉุกเฉินแล้ว จะต้องโทรเข้า 191 เป็นอันดับแรก เพื่อคัดกรองก่อน หากเป็นเรื่องฉุกเฉินทางการแพทย์ ก็จะส่งต่อมาที่ 1669 โดยจะมีบุคคลากรผู้รับสายที่ผ่านการอบรมเฉพาะ จะเป็นผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ สามารถแยกแยะสายได้ หากเป็นเรื่องที่ไม่มีผู้ป่วยเกี่ยวข้องก็อาจจะส่งเรื่องไปทางตำรวจ หากมีผู้ป่วยก็จะต้องส่งเรื่องมาที่การแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ซึ่งเมื่อรับเรื่อง ก็ทำงานตามแนวปฎิบัติตามปกติ จะมีการคัดกรองคัดแยกคนไข้ฉุกเฉินเพื่อที่จะส่งหน่วยที่เหมาะสมอาจเป็นทางบกทางน้ำ ทางอากาศ เฮลิคอปเตอร์ มองว่านี่เป็นเรื่องการวางแผนสู่อนาคต ซึ่งประเทศไทยกำลังวางแผนในการพัฒนาให้ดีขึ้น
เลขาฯ สพฉ.ย้ำว่าระยะเวลาการให้บริการก็ยังจะคงรวดเร็ว หรือเร็วขึ้น อย่างในปัจจุบันการโทรไปยังหน่วยรับแจ้ง 1669 ก็ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที ในการส่งรถ ส่งทีมออกไปยังผู้แจ้ง หากเป็นคนไข้สีแดงทีมที่ออกไปจะต้องไปถึงคนไข้ภายใน 8 นาที หากเป็นคนไข้สีเหลืองหรือสีเขียวก็อาจจะใช้เวลานานกว่านั้น 15 นาที 20 นาที ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอาการคนไข้ ซึ่งในอนาคตระบบใหม่จะพัฒนาให้สามารถแสดงพิกัดที่ต้นทางแจ้งเรื่องทันที ไม่ต้องเสียเวลาสอบถามเส้นทางและพิกัด เช่นเดียวกับในหลายประเทศทั่วโลกใช้แนวทางนี้
ทั้งนี้ จากข้อมูลการโทรสายด่วน 1669 อยู่ที่ประมาณ 6 ล้านครั้งต่อปี ส่วน 191 อยู่ที่ประมาณ 5 ล้านครั้งต่อปี โดยจากสถิติ ในจำนวนในจำนวนสายที่โทรมาที่ 1669 จำนวน 6 ล้านครั้งต่อปีนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน 1 ใน 3 หรือประมาณ 2 ล้านครั้ง ที่เหลือยังมีการโทรเข้ามาหลายเรื่อง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องผู้ป่วย เช่น แจ้งเหตุรถเสีย งูเข้าบ้าน ถามร้านอาหารอร่อย sex phone โทรเข้ามาก่อกวน ซึ่งทำให้รบกวนสายของผู้ที่ต้องการจะขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์จริงๆ โดยหวังว่าหากมีการพัฒนาระบบที่จะเห็นพิกัดของผู้แจ้งก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาผู้ที่โทรมาก่อกวนได้บ้าง ย้ำว่าการพัฒนาระบบตามแผนทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย