กรุงเทพฯ 10 มี.ค. – คมนาคม ให้ไจก้า -สนข. ศึกษาแผนพัฒนารถไฟฟ้าระยะที่ 2 คาดแล้วเสร็จใน 1 ปี เล็งเจาะเข้าพื้นที่ธุรกิจ-ในกลางเมือง หวังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ในงานสัมมนา Defining the 2nd Blueprint for Bangkok Mass Rapid Transit นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี ครม. ) อนุมัติให้ศึกษาแผนแม่บทโครงข่ายรถไฟฟ้าเพื่อพัฒนาขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือ เอ็มแมพ ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการวางโครงข่ายย่อยเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายรองที่จะต่อเนื่องจากโครงการเอ็มแมพ ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้ง 10 สาย เพื่อให้โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมืองหลวงมีความสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพนั้น
ขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ร่วมกับสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ศึกษาแนวทางการทำแผนแม่บทระยะที่ 2 ว่าจะขยายเส้นทางรถไฟฟ้าไปยังพื้นที่ใดบ้าง ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 10 สายที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑล คาดว่าจะใช้เวลาการศึกษา 1 ปี และเมื่อได้ผลการศึกษาแล้ว กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าศึกษาความเหมาะสมของแต่ละเส้นทาง พร้อมศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และการออกแบบโครงการอีก 1 ปี รวมเป็น 2 ปี จากนั้นคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีในปี 2562 เพื่อพิจารณาหากโครงการมีความคุ้มค่า ก็จะดำเนินการก่อสร้างทันที โดยจะให้จุดต่อเชื่อมอยู่ภายในสถานี อย่างไรก็ตามขณะนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีโครงการสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มอีกกี่โครงการ เพราะต้องรอผลการศึกษาก่อน
ทั้งนี้โครงข่ายรถไฟฟ้าระะยที่ 2 นี้ จะเน้นการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายเดิมที่มีอยู่ และจะเชื่อมกับย่านธุรกิจ ใจกลางเมืองที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพราะในพื้นที่กลางเมืองจะมีผู้โดยสารจำนวนมาก และห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะเชื่อมเส้นทางเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าโดยตรง จะทำให้การจับจ่ายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมาอีกจำนวนมาก ซึ่งยอมรับกระบวนการดังกล่าว อาจทำให้ค่าเวนคืนที่ดินมีราคาสูง โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมดำเนินการหากศึกษาแล้วคุ้มค่า
นายอาคม ยังยืนยันว่า รถไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นและขยายไปยังพื้นที่ปริมณฑล จะมีการพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้รองรับการเดินทางของประชาชนแบบครบวงจร ซึ่งในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ จะมีการนำบัตรแมงมุมมาให้บริการแล้ว ทำให้การเดินทางผ่านระบบขนส่งมวลชนคล่องตัวมากขึ้น
ทั้งนี้หลังจากเสร็จสิ้นระยะที่ 2 ก็จะเข้าสู่แผนการศึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 3 ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบรางในระยะ 20 ปี ที่จะขยายเส้นทางระบบรางแบบย่อยไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งตามแผนใช้ระยะเวลา 20 ปี ในการดำเนินการครบทั้งหมด .- สำนักไทย