กรุงเทพฯ 6 มี.ค.- รองปลัด มท. เผยกระทรวงมหาดไทยสั่งการให้จังหวัดภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งกองอำนวยการระดับจังหวัดและระดับอำเภอ แก้ไขปัญหาหมอกควัน เน้นทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ห้ามเผาในช่วงวิกฤติ
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งกำชับแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัด โดยให้จังหวัดดำเนินการ “จัดตั้งกองอำนวยการระดับจังหวัดและระดับอำเภอ” ขึ้น เพื่อเข้ามาบริหารจัดการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า โดยแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการออกเป็น 3 เขต และมอบหมายให้หน่วยงานภายในจังหวัด , เขต , ภาค เป็นผู้รับผิดชอบหลัก คือ 1.ในพื้นที่ป่าประเภทต่าง ๆ ให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการกำหนดแผนปฏิบัติการ โดยมีหน่วยทหาร หน่วย ตชด. และอื่น ๆ เป็นผู้สนับสนุน
นายชยพล กล่าวด้วยว่า 2.ในพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม มอบหมายให้ที่ทำการปกครองอำเภอและหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการจังหวัดและอำเภอ 3.พื้นที่ริมทางหรือถนนสายต่าง ๆ ให้พิจารณามอบหมายหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการกำหนดแผนปฏิบัติการ โดยมีหน่วยงานฝ่ายปกครององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาภาคประชาชน และอื่น ๆ เป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติ และเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ให้แต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ปลัดจังหวัด ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบติดตามในการประสานงานหรือบูรณาการกับหน่วยงานทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และ กอ.รมน.ภาค 3 กรมประชาสัมพันธ์ กรมอุตุนิยมวิทยา สถานีวิทยุการบิน หน่วยทหาร ตชด. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อร่วมบูรณาการในการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด และให้กองอำนวยการฯ จัดประชุมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด วันเว้นวัน จนกว่าสถานการณ์หมอกควันไฟป่าจะดีขึ้น หรือค่าหมอกควันฝุ่นละอองมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนลดน้อยลง
นายชยพล กล่าวอีกว่า สำหรับการปฏิบัติในระดับอำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤติ ได้สั่งการให้นายอำเภอกำกับดูแลแก้ปัญหาด้วยตนเอง และใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับทีมประชารัฐตำบลดำเนินการตามข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทย หรือหน่วยอื่น ๆ ในพื้นที่เพื่อดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างจริงจัง โดยมาตรการและวิธีดำเนินการในช่วงตั้งแต่วันนี้ (6 มี.ค.) เป็นต้นไปให้พิจารณาตามความเหมาะสมของพื้นที่ อาทิ มาตรการที่ต้องดำเนินการในช่วงนี้อย่างเข้มข้น คือ การใช้วิธีการไถกลบ การใช้สารอินทรีย์ย่อยสลาย การตัดตอซังข้าวโพด หรือเศษวัสดุทางการเกษตร “การประกาศเขตห้ามเผาในพื้นที่หมู่บ้าน” หรือพื้นที่บุกรุกทำไร่เลื่อนลอยอย่างเด็ดขาด ตามข้อตกลงระหว่างประชาชนกับผู้นำท้องที่จัดชุดลาดตระเวนร่วมหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อเข้าระงับเหตุไฟป่า หรือเฝ้าระวังการเผาป่าโดยให้แบ่งกำลังพลในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสม การระดมกำลังเจ้าหน้าที่ร่วมกับอาสาสมัครภาคประชาชนทำแนวป้องกันไฟป่า เป็นต้น รวมทั้งให้เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ออกข่าวสารกระจายเสียงตามสายประจำหมู่บ้านชุมชน วิทยุโทรทัศน์ท้องถิ่น หรือการจัดรถเคลื่อนที่ออกปฏิบัติการชี้แจงการห้ามการเผาป่า เศษวัสดุทางการเกษตรตามหมู่บ้านชุมชนอย่างกว้างขวางในพื้นที่ เพื่อต่อต้านการเผาป่า เผาเศษวัสดุทางการเกษตร วัชพืช หรือการดำเนินการโดยวิธีอื่นให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงอันตรายและผลกระทบของการเผาป่า เผาเศษวัสดุทางการเกษตรในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน
นายชยพล กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการควบคุมการชิงเผาในพื้นที่ก่อนนั้น ให้พิจารณาควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด หรือพิจารณาระงับไว้ก่อน เพราะเข้าสู่ช่วงเวลาที่เริ่มวิกฤติ มีหมอกควันหนาแน่นแล้ว ส่วนจังหวัดที่มีสนามบินพาณิชย์ ได้มอบหมายให้มีการประสานงานกับศูนย์ควบคุมการบิน เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์หมอกควันที่มีผลต่อการคมนาคมทางอากาศ เพื่อประโยชน์ในการจัดระบบการคมนาคมทางอากาศและลดความเสียหายของธุรกิจบริการท่องเที่ยว ทั้งนี้ หากสถานการณ์หมอกควันเริ่มมีปัญหาต่อสุขภาพของประชาชน ให้ประสานหน่วยงานสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย เตรียมรถพ่นน้ำ และออกคำแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่รู้จักวิธีดูแลสุขภาพช่วงสถานการณ์หมอกควันด้วย
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า สำหรับการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่นั้น กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้จังหวัดจัดทำรายงาน แผนและผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า รายงานเข้ามาที่กระทรวงมหาดไทยอย่างต่อเนื่อง โดยให้มีการระบุพื้นที่ที่เกิดไฟป่าหมอกควัน หน่วยรับผิดชอบประจำพื้นที่ วิธีการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว และระยะเวลาเกิดเหตุประเมินสถานการณ์ ทิศทางการเคลื่อนตัวของหมอกควัน หรือบริเวณที่หมอกควันปกคลุมระบุพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน และผลการดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ส่วนกลางได้รับทราบข้อมูลในพื้นที่อย่างรอบด้าน ซึ่งหากจังหวัดมีปัญหา หรือข้อเสนอแนะ หรือจะขอรับการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน กระทรวงมหาดไทยพร้อมสนับสนุนการปฏิบัติงานในทันที.-สำนักข่าวไทย