กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 30 ธ.ค.-ศปถ.สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธ.ค.59 เกิดอุบัติเหตุ 524 ครั้ง บาดเจ็บ 565 คน เสียชีวิต 42 ราย โดยจังหวัดปทุมธานี พบผู้เสียชีวิตสูงสุด 4 ราย เตือนผู้ฝ่าฝืนจำหน่ายสุราริมทางมีโทษจำคุกเกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2560 (ศปถ.) ว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 524 ครั้ง บาดเจ็บ 565 คน และเสียชีวิต 42 ราย ซึ่งมากกว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งการเกิดอุบัติเหตุ 439 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 456 คน และผู้เสียชีวิต 39 ราย
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เมาสุราและขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 29.77 ซึ่งรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 83.09 และช่วงเวลา 16.01-20.00 น.เป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ทั้งนี้ได้มีการตั้งจุดตรวจหลัก 2,016 จุด เรียกตรวจยานพาหนะ 516,509 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 85,079 คน มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 25,082 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ 21 ครั้ง ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี 4 ราย ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี และพิษณุโลก 23 คน
“มีความกังวลเรื่องการเกิดอุบัติเหตุในถนนสายรอง เพราะวันนี้ คาดว่าประชาชนจะเริ่มเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมดื่มสุราและขับขี่รถจักรยานยนต์ ดังนั้นจึงได้กำชับให้มีการตั้งด่านชุมชนด้วย นอกจากนี้จะเข้มงวดเรื่องการจำหน่ายสุราริมทาง หลังพบมีการฝ่าฝืนในหลายพื้นที่ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจับทั้งปรับ” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รายงานต่อที่ประชุม ศปถ.ถึงมาตรการ “ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ” ว่า พบสถิติผู้กระทำความผิด 788 คน ส่งดำเนินคดี 500 คน ยึดรถจักรยานยนต์ 21 คัน ,รถยนต์ และรถโดยสาร 6 คัน รวมถึงยึดใบอนุญาตขับขี่ 87 คน ด้านผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะเข้มงวดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับการจำหน่ายสุราบริเวณริมทาง และบนยานพาหนะ พร้อมขอให้ประชาชนช่วยเจ้าหน้าที่สอดส่องดูแล ส่วนการตั้งด่านชุมชน ถือเป็นกลไกในการตักเตือนประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้.-สำนักข่าวไทย