กรุงเทพฯ 4 ม.ค.-ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยพาไปดูโครงสร้างรถตู้วิ่งโดยสารระหว่างเมืองว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้จากจุดใดบ้าง ขณะที่ผู้คุ้นเคยกับคนขับรถคันเกิดเหตุ ที่พาผู้โดยสารไปเสียชีวิตรวม 25 ศพ เล่าว่า คนขับรายนั้นซึ่งเป็นเจ้าของรถ เคยอยากจะซื้อรถตู้ใหม่หลายครั้ง แต่ติดว่าต้องใช้เงินจำนวนมาก
ระหว่างที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถตู้ชนรถกระบะ ที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จนมีผู้เสียชีวิตถึง 25 ราย ซึ่งล่าสุดสถาบันนิติเวชวิทยาไม่พบสารเสพติดและแอลกอฮอล์จากผลตรวจปัสสาวะและเลือดจากคนขับรายนี้
ผู้ดูแลคิวรถตู้ หมอชิต-จันทบุรี ซึ่งคุ้นเคยกับนายสุมน เอี่ยมสมบัติ คนขับรถตู้คันที่เกิดเหตุเป็นอย่างดี เปิดเผยว่า คนขับ ซึ่งเป็นเจ้าของรถด้วยและวิ่งอยู่ในคิวของบริษัทพลอยหยก เคยบอกกับตนหลายครั้งว่า อยากเปลี่ยนรถคันใหม่ แต่เนื่องจากต้องใช้เงินมาก และช่วงหลังรัฐมีนโยบายจะทยอยยกเลิกรถตู้โดยสารระหว่างเมืองให้เป็นมินิบัส เขาจึงเกรงว่า หากซื้อรถตู้ใหม่ช่วงนี้จะไม่คุ้มค่า จึงทนใช้รถสภาพเดิมต่อมาเรื่อยๆ แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นในที่สุด
บรรยากาศที่คิวรถตู้ของบริษัทที่เกิดเหตุ วันนี้ก็ยังคงมีผู้โดยสารมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่รู้สึกเสียขวัญต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น แต่ยืนยันยังจำเป็นต้องใช้บริการ เพราะสะดวกกว่ารถโดยสารชนิดอื่น
บริษัทให้บริการรถตู้โดยสารหมอชิต-จันทบุรี มีทั้งหมด 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทโลตัส 30 คัน, พลอยหยก 18 คัน, มิตรดี 7-9 คัน และบริษัทบีเอช 7-9 คัน พนักงานขับรถไปกลับกรุงเทพ-จันทบุรี ใช้เวลา 4 ชั่วโมง/เที่ยว ได้เงินเที่ยวละ 500 บาท ยกเว้นกรณีเป็นเจ้าของรถเองเหมือนกับคนขับที่เพิ่งประสบอุบัติเหตุ จะได้รับรายได้เกือบทั้งหมด จ่ายให้บริษัทเพียงบางส่วน ช่วงเทศกาลมีผู้โดยสารมาก ก็ยิ่งทำรอบมากขึ้น บางคนขับถึงวันละ 3 เที่ยว แต่กรณีนายสุมน ที่ขับพาผู้โดยสารเสียชีวิตรวม 25 ศพ มีข้อมูลว่าวิ่งรถถึง 5 เที่ยวในเส้นทางนี้ ใน 31 ชั่วโมง
แม้ล่าสุดจะมีการยกเลิกสัญญาเดินรถร่วมของบริษัทพลอยหยกแล้ว แต่มาตรการที่หลายฝ่ายอยากเห็น คือ การติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยในรถ เช่น เข็มชัดนิรถภัย ที่ทุบกระจก ถังดับเพลิง และจีพีเอส ขณะที่ทีดีอาร์ไอเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานกลางที่เป็นอิสระในการสอบสวนอุบัติเหตุครั้งสำคัญ เพราะหน่วยงานที่กำหนดมาตราฐานและตรวจสภาพรถ รวมถึงสอบสวนการเกิดอุบัติเหตุ ล้วนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด จึงอาจทำให้ไม่ได้ข้อมูลที่ควรนำมาเป็นประเด็นในการแก้ปัญหาในอนาคต.-สำนักข่าวไทย