สธ. 23 พ.ย.-กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำไนโตรเจนเหลวไม่ก่ออันตรายในผู้บริโภคเพราะควันหรือไอเย็นอยู่ไม่นาน จัดเป็นก๊าซเฉื่อย ระเหยง่าย ด้านกรมอนามัยระบุในร้านอาหารนิยมใช้ตกแต่งขนมหวานและไม่มีข้อห้าม
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการนำไนโตรเจนเหลวมาใช้ตกแต่งหรือประกอบอาหาร โดยเฉพาะของหวาน ว่า เรื่องนี้เป็นมุมมองในความ สวยงามของการตกแต่งอาหารให้มีมุมมองที่แตกต่าง ดึงดูดความสนใจ ไนโตรเจนเหลว เป็นสารที่ติดไฟ และลักษณะเป็นก๊าซเฉื่อยระเหยง่าย ไม่มีอันตรายกับผู้บริโภค ทำให้เกิดควันหรือไอเย็น มักใช้กับไอศครีมด้วยเชื่อว่าจะมีความเหนียวนุ่ม และเย็นมากถึง -196 องศาเซลเซียส ซึ่งในความจริงแล้วไนโตรเจนเหลว จะทำให้เกิดไอเย็นหรือควันไม่นาน เพียงไม่กี่นาที แต่สิ่งที่น่ากลัวคือการสัมผัสโดยตรง ที่คนใกล้ชิดกับก๊าซนี้ น่าจะเป็นผู้ประกอบอาหาร จะไหม้เมื่อผิวหนังสัมผัสกับตัวก๊าซจะรู้สึกแสบและเจ็บคล้ายถูกหิมะกัด เนื่องจากมีความเย็นสูง -196 องศา ดังนั้นผู้ประกอบการต้องระมัดระวัง ส่วนผู้บริโภคไม่เกิดผลกระทบและไม่ก่อให้เกิดการสะสมในร่างกายเพราะความเย็นของไนโตรเจนเหลวอยู่ไม่นาน อีกทั้งอากาศที่เราหายใจทุกวันนี้ก็มีความผสมของไนโตรเจนเช่นกัน
ด้านนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการสำรวจร้านอาหารที่ใช้ไนโตรเจนเหลว ตกแต่งอาหารอย่างจริงจัง เนื่องจากไม่มีการระบุเป็นการห้ามใช้ใน ร้านอาหารและไม่พบอันตรายด้วย ส่วนใหญ่การใช้ไนโตรเจนในร้านอาหารเป็นเพียงลูกเล่นของร้านที่ใช้ดึงความสนใจของลูกค้าเท่านั้น ใช้ในการเทราดลงในไอศครีม ซึ่งไนเตรเจนเหลวก็มีคุณสมบัติเหมือนไนโตรเจนธรรมดา เพียงแต่มีการบีบอัดให้มวลสารเปลี่ยนเป็นของเหลว เทลงมาก็ระเหยกลายเป็นอากาศไป ยกเว้นแต่มีการรับประทานไปโดยตรงอาจก่ออันตรายได้ ทั้งนี้ จัดอยู่ในกลุ่มสารปรุงแต่งอาหารที่ไม่เกิดประโยชน์ในการบริโภคและยังไม่รู้ผล กระทบระยะยาวที่ แน่ชัด ฉะนั้นควรระมัดระวังหรือเลี่ยงในการใช้หรือบริโภคน่าจะดีที่สุด .-สำนักข่าวไทย