รพ.รามาธิบดี 24 ก.ค..-อนุทิน รุก “การแพทย์ยุค New Normal”ตรวจเยี่ยม รพ.รามาธิบดี ที่มีความ พร้อมบริการ สาธารณสุขทางไกล และบริการเคมีบำบัดที่บ้านในผู้ป่วยมะเร็ง มีกองทุนบัตรทองจัดงบสนับสนุน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ตรวจเยี่ยมการจัดบริการเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 และเข้าสู่ภาวะ New Normal ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้การต้อนรับ
นายอนุทิน กล่าวว่า การปรับรูปแบบให้บริการทางการแพทย์ New Normal เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อให้กับผู้ป่วยและลดการแพร่กระจายของโรคได้ และเป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เล็งเห็นความสำคัญและมีนโยบายสนับสนุนหน่วยบริการ มีการจัดสรรงบเพิ่มเติมกว่า 4,455ล้านบาท เพื่อสนับสนุน การรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน /จัดส่งยาทางไปรษณีย์ รวมถึงบริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telemehealth / Telemedicine)
โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นหนึ่งได้นำเทคโนโลยีมาใช้ทางการแพทย์ เริ่มให้บริการระบบสาธารณสุขทางไกลเมื่อ1เมษายน 2563 ทำให้ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าสามารถรับบริการระบบสาธารณสุขทางไกลได้ ไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล โดยรับการตรวจรักษาจากแพทย์ผ่าน Rama App หรือ Line video call และโทรศัพท์พูดคุยเพิ่มเติม และจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ที่บ้าน โดย สปสช. สนับสนุนค่าจัดส่ง ปัจจุบันโรงพยาบาลรามาธิบดีมีผู้ป่วยรับบริการ เทเลเมดิซีน กว่า 10,000คน เฉลี่ย 400-600 คน/วัน หรือประมาณ 10%ของผู้ป่วย และมีแผนเพิ่มอัตราใช้บริการเป็น 20% ต่อไป
ด้านนายแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าวว่า บริการยาเคมีบำบัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่บ้าน เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ในระบบบัตรทอง เริ่มในเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นการพัฒนาสิทธิประโยชน์จากผลงานบริการของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ได้เริ่มในปี 2559 นอกจากทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดตรงตามนัดทุกครั้ง ไม่ต้องรอเตียง ไม่ต้องนอนรับยาที่โรงพยาบาล ให้ผลการรักษาที่ดีแล้ว ยังเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย เพราะระหว่างที่ผู้ป่วยรับยาเคมีบำบัดสามารถทำภารกิจประจำวันอื่นไปพร้อมกันได้ และมีต้นทุนบริการไม่แตกต่าง โดยโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นหนึ่งในโรงพยาบาล 7 แห่ง ร่วมนำร่องสิทธิประโยชน์ใหม่นี้ ซึ่งอีก 6 แห่ง ได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติรพ.มะเร็งลพบุรี รพ.มะเร็งชลบุรี รพ.ราชวิถี รพ.จุฬาภรณ์ และ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า
“การรับเคมีบำบัดปกติคนไข้ต้องใช้เวลารอเตียงนาน 5-7 วัน ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มาก ทำให้การนัดรับยาคลาดเคลื่อน ทั้งการให้ยาเคมีบำบัดแต่ละครั้งผู้ป่วยต้องนอนที่โรงพยาบาลนาน 2-3 วัน บริการเคมีบำบัดที่บ้านจึงเป็นทางออกที่ดี และเป็นบริการทางการแพทย์ New Normal ทั้งนี้เหตุที่เริ่มในผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะจำนวนผู้ป่วยมีมาก 1 ใน 5 ของโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด และตัวยาเคมีบำบัดที่ใช้ที่บ้านค่อนข้างปลอดภัยและมีความเสถียร”นายแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าว
โรงพยาบาลรามาธิบดียังได้นำเสนอบริการ “ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต” (สเต็มเซลล์)ซึ่ง เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเริ่มในปี 2551 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากเป็นการรักษาต่อเนื่องหลังจากการให้เคมีบำบัด ต่อมาปี 2554 ได้เพิ่มการรักษาไปยังผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ทั้งยังขยายครอบคลุมกรณีที่ผู้บริจาคเม็ดโลหิตที่ไม่ใช่ญาติ ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2551-2562 มีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายแล้ว จำนวน 489 ราย และในปีงบประมาณ 2563 ได้ขยายเป้าหมายเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยเป็น 110 ราย ทั้งนี้ โรงพยาบาลรามาธิบดีมีความเชี่ยวชาญการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ และที่ผ่านมาได้ให้บริการปลูกถ่ายผู้ป่วยจำนวนมาก รวมถึงกรณีน้องจีน อายุ 7 ปี ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากไขกระดูกที่รับจากน้องจีโอ้ (น้องชาย) อายุ 5 ปี ขณะติดเชื้อ COVID-19 รายแรกของโลก โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สะท้อนถึงความสามารถของทีมแพทย์และระบบการแพทย์ไทยในการดูแลผู้ป่วย.-สำนักข่าวไทย