กรุงเทพฯ 22 มี.ค. – คณะแพทย์รามาฯ เตือนอย่าตื่นตระหนกผลกระทบ “ซีเซียม-137” เพราะซีเซียมที่เกิดเหตุมีปริมาณเทียบเท่า 1 ใน 1,000 เท่าของเม็ดยาพารา อีกทั้งการหลอมอยู่ในระบบปิด โอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมจึงมีน้อย
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “ซีเซียม-137 กับยาต้านพิษ พรัสเซียนบลู” โดย ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ซีเซียมในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีค่าความแรงรังสีอยู่ที่ 41.4 มิลลิกูว์รี ซึ่งเทียบกับความแรงรังสีเริ่มต้นวัดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 อยู่ที่ 80 มิลลิกูว์รี หรือถ้าคิดเป็นน้ำหนักอยู่ที่ 505 ไมโครกรัม มีขนาดเทียบเท่า 1 ใน 1,000 เท่าของเม็ดยาพารา ถือว่ามีปริมาณน้อยกว่าที่ใช้ในทางอุตสาหกรรม ที่มีการใช้งานตั้งแต่ 1-10,000 มิลลิกูว์รี น้อยกว่าที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพเครื่องมือทางรังสีวิทยา ซึ่งมีความแรงรังสีอยู่ที่ 1/1000 ของซีเซียมที่เกิดเหตุ น้อยกว่าปริมาณรังสีซีเซียมในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อปี 2529 ถึง 56.76 ล้านเท่า และน้อยกว่าปริมาณรังสีซีเซียมในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา เมื่อปี 2554 ถึง 11 ล้านเท่า
ซีเซียมมีจุดเดือดต่ำ ถ้าเกิดการหลอม จะระเหยเป็นไอและเป็นฝุ่นในห้องหลอม การล้างห้องหลอมหรือควันที่เกิดจากการหลอม มีโอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ไอและฝุ่นในห้องหลอม ถ้าไม่ถูกจัดเก็บในระบบปิดและถูกจัดการให้เป็นกากกัมมันตรังสี มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ หรือปลิวไปในอากาศ และอาจไปสะสมในสิ่งแวดล้อมได้
จากข้อมูลตามการแถลงข่าวของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ การหลอมเป็นระบบปิดและมีตัวกรองของเตาหลอม ถ้ามีการจัดเก็บฝุ่นในระบบปิดตามที่แถลง โอกาสที่จะมีรังสีซีเซียมปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมจึงน้อย
ทั้งนี้ การรับรังสี รับได้ 2 ช่องทาง คือ 1. การรับรังสีจากภายนอก สามารถป้องกันได้โดยใช้หลัก TDS Rule (Time, Distance, Shielding) โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด อยู่ห่างจากต้นกำเนิดรังสีให้มากที่สุด และใช้อุปกรณ์ในการกำบังรังสี ถ้าซีเซียมที่หายถูกหลอมแล้ว วิธีการที่จะป้องกัน คือ อย่าเข้าไปใกล้บริเวณที่เก็บฝุ่นรังสี ซึ่งจากที่รายงานปริมาณรังสีที่วัดได้จากฝุ่นมีค่าใกล้เคียงกับปริมาณรังสีพื้นหลัง 2. การรับรังสีจากแหล่งกำเนิดในร่างกาย ที่เกิดจากการสูดหายใจ หรือรับประทานสิ่งที่ปนเปื้อนซีเซียม
กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญของทั้ง 2 ช่องทาง คือ ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณหรือช่วงเวลาที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม จากรายงานค่าปริมาณรังสีในอากาศและตัวอย่างดินรอบๆ บริเวณ พบว่ายังมีค่าใกล้เคียงกับปริมาณรังสีพื้นหลัง
พร้อมแนะประชาชน ระหว่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าซีเซียมที่ถูกหลอมเป็นชิ้นที่หายไปจริง ขอให้สังเกตวัตถุต้องสงสัย หากพบสัญลักษณ์ หรือมีป้ายเตือนทางรังสี ให้รีบแจ้งสายด่วน 1296 และไม่ควรไปนำมาส่งคืน หรือพยายามพิสูจน์ด้วยตนเอง แต่ควรปิดกั้นบริเวณ รอเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ เพราะรังสีสามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดรังสีเท่านั้น และให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามค่าการวัดรังสีที่รายงานจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติอย่างใกล้ชิด ส่วนการปฏิบัติตัวสามารถทำได้ตามปกติ
รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า สารซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสี ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ปริมาณของรังสีที่ได้รับ ระยะเวลาที่ได้รับ ส่วนของร่างกายที่ได้รับ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ผลระยะสั้น มีทั้งผลที่เกิดเฉพาะที่ เมื่อมีการสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดง คัน บวม มีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้น อาจมีขนหรือผมร่วงได้ และผลต่อระบบอื่นในร่างกายที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เมื่อได้รับปริมาณที่สูงมาก เรียกว่า กลุ่มอาการเฉียบพลันจากการได้รับรังสีปริมาณสูง โดยจะมีอาการนำ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หลังจากนั้นอาการจะหายไปชั่วคราวประมาณ 1-3 สัปดาห์ ต่อจากนั้นจะมีผลต่อ 3 ระบบหลักของร่างกาย ได้แก่ ระบบโลหิต ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาท ทั้งนี้ ขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ โดยผลกระทบแต่ละระบบ มีดังนี้ ระบบโลหิต มีผลกดไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดต่ำลงได้ ระบบทางเดินอาหาร มีผลทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเป็นเลือด และระบบประสาท ทำให้สับสน เดินเซ ซึมลง และชักได้ โดยเฉพาะในรายที่รุนแรง ส่วนผลระยะยาวที่สำคัญ คือ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้
การรักษาด้วยยาต้านพิษ “พรัสเซียนบลู” ซึ่งเป็นสารที่ใช้แพร่หลายในการเขียนภาพ และถูกนำมาใช้เป็นยาต้านพิษที่ใช้ในการรักษาภาวะพิษจากซีเซียม โดยมีข้อบ่งชี้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อนซีเซียมภายในร่างกายเท่านั้น ไม่ใช้รักษาหากได้รับทางผิวหนังหรือปนปื้อนตามเสื้อผ้า
กลไกการออกฤทธิ์หลักของ “พรัสเซียนบลู” คือ จะจับกับซีเซียมในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังลดการดูดกลับของซีเซียมจากที่มีผลยับยั้งกระบวนการดูดกลับจากทางเดินอาหารไปยังตับและขับออกมาทางน้ำดีกลับสู่ทางเดินอาหารอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา
ยาต้านพิษ “พรัสเซียนบลู” มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจากการได้รับยาในขนาดที่ใช้ในการรักษาได้ เช่น ท้องผูก หรือภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟัน เปลี่ยนสีได้ ดังนั้น จึงไม่ควรซื้อมารับประทานเอง เนื่องจากสารเคมีที่ซื้ออาจไม่ได้ถูกผลิตเป็นยา และอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ การรักษาด้วยยาชนิดนี้ควรใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์
ขณะที่ ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวย้ำว่า ด้วยปริมาณซีเซียมในที่เกิดเหตุครั้งนี้มีจำนวนน้อย และอยู่ในระบบปิด ในภาพรวมจึงถือว่ายังมีความเสี่ยงต่ำ ประชาชนไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป ยังสามารถบริโภคอาหาร พืชผักผลไม้ ที่มาจากจังหวัดที่เกิดเหตุ และยังคงไปเที่ยวได้ตามปกติ และจากสถานการณ์ตอนนี้ก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องซื้อยาต้านพิษ “พรัสเซียนบลู” มาใช้. – สำนักข่าวไทย