กรุงเทพฯ 23 ก.ค. – สำนักข่าวไทย พาย้อนเรื่องราวสุดสะเทือนขวัญของ “ซีอุย” ที่ถูกพูดถึงไม่ต่างจากตำนาน แม้เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน
จากบันทึกคำให้การของตำรวจ รวมถึงข้อมูลจากเอกสารคำพิพากษาคดีดังกล่าว ระบุว่า นายลีอุย แซ่อึ้ง ซึ่งต่อมาถูกเรียกเพี้ยนเป็น “ซีอุย” กลายเป็นจำเลยในคดี “ฆ่าคนตายโดยเจตนา ไตร่ตรองไว้ก่อน โดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้าย” เมื่อปี 2501
สำหรับ “ซีอุย” คาดว่าเกิดในปี 2464 ในตำบลฮุนไหล เมืองซัวเถา ประเทศจีน และในช่วงวัยรุ่นได้ถูกเกณฑ์ไปประจำหน่วยทหาร ต่อสู้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่น จากนั้นเมื่อสงครามสิ้นสุด จึงถูกเกณฑ์ไปรบ ก่อนหนีทหารเข้ามาในไทย เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2489
มีข้อมูลว่า “ซีอุย” เดินทางมาที่เมืองไทยครั้งแรกที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่มีบางข้อมูลรายงานว่า ได้เดินทางมาที่พระนคร และถูกกักตัวที่กองตรวจคนเข้าเมือง 10 วัน จากนั้นมีผู้มารับรองออกไปได้ และพักอยู่ที่พระนคร 5-6 วัน จึงเดินทางไปที่ อ.ทับสะแก
“ซีอุย” ทำงานรับจ้างอยู่หลายแห่ง ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง บางแห่งอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ บางแห่ง 2 เดือน บางแห่ง 6 เดือน หรือบางแห่งอาจจะ 8 เดือน ซึ่งข้อมูลนี้สอดคล้องกันในรายงานที่ปรากฏ รวมถึงบันทึกคำให้การ โดยมีข้อมูลว่า ในช่วง 8 ปีแรกที่อยู่ในเมืองไทย “ซีอุย” ไม่ได้ก่อคดีร้ายแรงใดๆ
กระทั่งช่วงบ่ายวันที่ 27 มกราคม 2501 “ซีอุย” ได้ก่อเหตุฆาตกรรมเด็กชายคนหนึ่งในสวนผัก ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง ด้วยความเชื่อว่า การกินเครื่องในจะทำให้แข็งแรง ไม่ถูกรังแกเหมือนในวัยเด็ก จากนั้นได้พยายามเผาร่างทำลายหลักฐาน แต่ครอบครัวของเด็กมาพบ ก่อนถูกจับมัดและแจ้งตำรวจ
จนกระทั่งมีการสืบสวนขยายผลและพบเงื่อนงำที่สำคัญ คือ แหล่งที่พักของ “ซีอุย” ตรงกับสถานที่เกิดเหตุของคดีฆาตกรรมเด็ก ทั้งใน อ.ทับสะแก ปี 2497 จำนวน 3 เหตุการณ์, อ.ปราณบุรี 1 เหตุการณ์, อ.ดุสิต จ.พระนคร 1 เหตุการณ์ ปี 2500 ใน อ.เมืองนครปฐม 1 เหตุการณ์ และกรณีสุดท้าย คือ ปี 2501 ที่ถูกจับกุมตัวดำเนินคดี
เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีข้อมูลว่า “ซีอุย” ไม่ได้ขัดขืนการจับกุม ไม่พบความวิปริตทางจิตชนิดทารุณผู้อื่น และไม่ได้เป็นโรคอยากกินเนื้อมนุษย์ ทำให้ความผิดที่กระทำไม่ได้รับการยกเว้นโทษ ก่อนถูกประหารชีวิตในวันที่ 16 กันยายน 2502 และในวันที่ 27 กันยายน ปีเดียวกัน มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ศิริราช) ได้ขอร่างของ “ซีอุย” มาทำการศึกษา และเก็บไว้ที่ตึกกายวิภาค เพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับนักศึกษาแแพทย์
เรื่องราวต่างๆ ของ “ซีอุย” ถูกนำมาเล่าต่อในรูปแบบต่างๆ จนกระทั่งเวลาผ่านมา 60 ปี ได้เกิดแคมเปญของนักศึกษานิติศาสตร์คนหนึ่ง เรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์ และให้นำร่างของ “ซีอุย” ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา. – สำนักข่าวไทย