นนทบุรี 23 ก.ค. – เรื่องราวของ “ซีอุย” ตำนานฆาตกรต่อเนื่อง เมื่อ 60 ปีที่แล้ว กลับมาอยู่ในความสนใจของคนในสังคมอีกครั้ง เมื่อกรมราชทัณฑ์ กำหนดทำพิธีฌาปนกิจศพ “ซีอุย” ในวันนี้ มุมมองจากคนหลากหลายวงการที่มีต่อชายคนนี้เป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
ภาพสุดท้ายของชายผู้เป็นตำนานแห่งความสะพรึงขวัญ นามว่า ลีอุย แซ่อึ้ง หรือที่รู้จักกันในนาม “ซีอุย” อดีตนักโทษประหารชีวิต ในคดีฆาตกรรมต่อเนื่องสะเทือนขวัญ 7 คดี ในช่วงปี 2497-2501 หรือเมื่อ 60 ปีที่แล้ว
“ซีอุย” ถูกประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2502 หลังจากนั้นไม่นาน ร่างของเขาก็ถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ ศิริราช พร้อมกับป้ายข้อความ “มนุษย์กินคน” ล่วงเลยมาถึงปี 2562 หรือครบ 60 ปี เกิดกระแสเรียกร้องให้คืนความเป็นธรรมให้กับ “ซีอุย” นำร่างออกจากโรงพยาบาลศิริราช เพราะเห็นว่า “ซีอุย” ไม่ใช่ฆาตกรตัวจริงของเหยื่อทั้งหมด
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มาร่วมงานฌาปนกิจ ระบุการเรียกร้องจนประสบความสำเร็จในกรณีนี้ ถือเป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชีย และเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการปลดพันธนาการให้กับร่างของผู้เสียชีวิต และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับร่างของผู้ที่ถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
ขณะที่ตัวแทนจากโรงพยาบาลศิริราช ยอมรับแม้จะเป็นเคสที่มีป้ายปะหน้าชวนสะเทือนขวัญ แต่ตลอด 60 ปีที่ร่างของ “ซีอุย” อยู่ในศิริราช ทางโรงพยาบาลได้ทำบุญให้ทุกปี เพราะถือเป็นอาจารย์ใหญ่ที่มีความผูกพันกับนักศึกษามาอย่างยาวนาน
ร่างของ “ซีอุย” ใช่ว่าจะมีคุณค่าและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับวงการสิทธิมนุษยชนและด้านการแพทย์เท่านั้น วาทกรรมที่สังคมเคยสร้าง ทำให้ “ซีอุย” ดูโหดเหี้ยม น่ากลัวเกินมนุษย์มนา เวลาได้พิสูจน์ให้สังคมเปลี่ยนแปลงความคิดครั้งใหญ่ต่อชายชื่อ “ซีอุย” ไม่เว้นแม้แต่ดาราที่รับบทเป็น “ซีอุย” เมื่อปี 2527 ยอมรับไม่อยากรับบทนี้ เพราะกลัวคนเกลียด แต่เมื่อความจริงเริ่มกระจ่าง ความคิดที่เคยมีต่อตัวละครนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไป
แต่กับผู้ที่เคยเจอ “ซีอุย” เมื่อครั้งมีชีวิต แม้ไม่เคยคุยกัน แต่การที่ได้เห็นมาตลอดหลายปีช่วงที่อยู่ทับสะแก ข่าวที่เกิดขึ้นก็ไม่ทำให้ความมั่นใจสั่นคลอน ยังเชื่อเสมอว่า แม้อายุ 83 ปีแล้ว ความทรงจำที่มีต่อ “ซีอุย” บอกเสมอว่า “ซีอุย” ไม่ใช่ “มนุษย์กินคน”
ขณะที่ผู้เดินเรื่องให้ภารกิจฌาปนกิจ “ซีอุย” ลุล่วง อย่างกรมราชทัณฑ์ ย้ำหลังจากนี้การจะทำอะไรกับร่างของนักโทษ ต้องคำนึงถึงกฎหมายและหลักมนุษยธรรม ไม่ละเมิดสิทธิของผู้ตาย อย่างเคส “ซีอุย” เถ้าอัฐิจะไม่ให้นำกลับไปไว้ที่ทับสะแกเด็ดขาด
พิธีฌาปนกิจ “ซีอุย” ที่จัดอย่างเหมาะสมตามประเพณี นอกจากจะทำเพื่อคืนศักดิ์ศรีและความยุติธรรมให้ “ซีอุย” แล้ว การเผาร่างครั้งนี้ เพื่อเป็นการปิดตำนานของ “ซีอุย” ที่อยู่ยาวนานกว่า 60 ปี ให้จบลงอย่างสมบูรณ์. – สำนักข่าวไทย