กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – รายได้ภาครัฐหดหลังยอดใช้ก๊าซอ่าวไทยลดลง ผลกระทบจากโควิด-19 กรมเชื้อเพลิงฯ เรียก “เชฟรอน-ปตท.สผ.” หารือปัญหาคาใจ ให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ “เอราวัณ” เพื่อให้การผลิตไม่สะดุด หลังหมดอายุสัมปทาน 2565
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ พบว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) ลดลงเหลือประมาณกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปกติอยู่ที่ประมาณกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงงานบางแห่งปิดตัว บางแห่งลดกำลังผลิต ห้างสรรพสินค้า อาคารต่าง ๆ ลดใช้ไฟฟ้า ในช่วงล็อกดาวน์ ประกอบกับภาครัฐส่งเสริมให้ใช้ก๊าซแอลเอ็นจีนำเข้าสัญญาตลาดจรในราคาต่ำ ส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลงเหลือประมาณ 2,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปกติใช้ประมาณ 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งขณะนี้กำลังติดตามว่าช่วงครึ่งหลังของปีความต้องการจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด และจากราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับการใช้ก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลง คาดว่าจะกระทบต่อรายได้ภาครัฐจากกิจการปิโตรเลียมในปีนี้ลดลงด้วย จากที่ปี 2562 อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ สร้างรายได้เข้ารัฐ 160,000 ล้านบาท ส่งผลให้กรมเชื้อเพลิงฯ นับเป็นกรมที่มีการจัดหารายได้มากเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ จาก 3 อันดับแรกเป็นหน่วยงานใต้สังกัดของกระทรวงการคลัง คือ กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร
นายสราวุธ กล่าวว่า กรมฯ ยังมั่นใจว่าช่วงรอยต่อหมดอายุสัมปทานปิโตรเลียม “เอราวัณ” ปี 2565 คาดว่าการผลิตจะไม่มีปัญหาจนสร้างผลกระทบความมั่นคงด้านพลังงาน แม้ว่าขณะนี้ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.เป็นห่วงว่าจะเข้าพื้นที่ล่าช้า การผลิตไม่เป็นไปตามแผนงาน เนื่องจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จำกัดการเข้าพื้นที่ โดยขณะนี้กรมฯ ประสานให้ 2 บริษัทนี้หารือร่วมกันคาดว่าจะได้ข้อสรุปได้ภายใน 1 เดือนนี้ เพื่อให้ ปตท.สผ. สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ตามแผนงานในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อเดินหน้ากิจกรรมการติดตั้งแท่นหลุมผลิต และการเจาะหลุมผลิตบนแท่นใหม่ .- สำนักข่าวไทย