กรุงเทพฯ 29 มี.ค.- สำนักงาน กกพ. ยืนยันไฟฟ้ามั่นคงแม้ปีหน้าก๊าซฯเอราวัณผลิตต่ำกว่าแผน ส่วนต้นทุนค่าไฟฟ้ารอลุ้นราคาแอลเอ็นจีช่วงปีหน้า พร้อมหารือแนวทางบริหารจัดการหากจำเป็นก็อาจแก้กฎหมาย กรณีเอกชนนำเข้าโดยไม่ใช่ท่อก๊าซฯปตท.
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า จากกรณีที่ บริษัทในเครือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อผลิตก๊าซฯ ต่อเนื่องหลังหมดอายุสัมปทานปิโตรเลียมในเดือน เมษายน 2565 นั้น ทาง สำนักงาน กกพ.ได้มีการหารือทุกหน่วยงานเพื่อเตรียมแผนรองรับ ทั้งโรงไฟฟ้าต่างๆ การผลิตก๊าซฯและการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) ซึ่งขอยืนยันว่า ไฟฟ้าไม่ขาดแคลน มีความมั่นคง จัดหาก๊าซฯ เพียงพอ แต่ในส่วนของค่าไฟฟ้าจะมีผลขยับขึ้นหรือไม่ ก็ต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงนั้นว่าต้นทุนก๊าซแอลเอ็นจีที่จะนำเข้าเป็นเช่นใด
ทั้งนี้ ทาง ปตท.สผ. ประเมินว่า ก๊าซจากแหล่งเอราวัณ อาจจะผลิตได้ราว 500 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากที่กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งในส่วนที่ขาดหายไป 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รับทราบว่าจะมีการจัดหาจากแหล่งก๊าซในประเทศเป็นหลัก และอีกส่วนน้อยจะเป็นการนำเข้าแอลเอ็นจีทดแทน
นายคมกฤช กล่าวว่า ในส่วนของเอกชนที่ ยื่นขอเป็นผู้รับใบอุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (ชิปเปอร์) ในขณะนี้ยังมีเพิ่มเติมเพียง 3 ราย คือ กลุ่มเอสซีจี,เอ็กโก้กรุ๊ป และพีทีทีโกลบอลแอลเอ็นจี ซึ่งการพิจารณาอนุมัตจะรอดูนโยบายการเปิดเสรี ที่กระทรวงพลังงาน จะนำเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ก่อน
ส่วนกรณี บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสจีพี เตรียมแผนนำเข้าแอลเอ็นจี โดยสร้างคลังนำเข้าและขนส่งจำหน่ายในรูปของเหลวโดยรถยนต์นั้น เลขาสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า ตามกฎหมาย ของ กกพ. ขณะนี้ยังไม่มีอำนาจดูแลในเรื่องดังกล่าว เพราะดูเฉพาะในส่วนของประโยชน์สาธารณะ ใช้โครงข่ายหรือท่อก๊าซฯร่วมกัน ดูแลคลังเก็บรักษาและแปรสภาพ ซึ่งกรณี เอสจีพี ไม่เข้าข่ายดังกล่าว เพราะไม่มีการแปรสภาพก๊าซจากของเหลวเป็นก๊าซฯและไม่ได้ใช้ท่อก๊าซของ ปตท. อย่างไรก็ตาม กรณีที่เอสจีพีวิ่งไปส่งลูกค้า เมื่อลูกค้ารับซื้อแล้วแปรสภาพเป็นก๊าซฯ ทางลูกค้าก็ต้องมาขออนุญาตจดแจ้งกับ สำนักงาน กกพ.ตามกฎหมายกำหนด ดังนั้นในภาพรวม ทางสำนักงาน กกพ. อาจจะหารือกับหน่วยงานด้านนโยบายว่าหน่วยงานใดจะดูแล เพราะในขณะนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงร่างกฎหมาย กกพ. ซึ่งหากจะให้สำนักงาน กกพ. เข้าไปดูแลภาพรวมทั้งหมด ก็ต้องหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อแก้ไขกฎหมายในการดูแลดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดก๊าซธรรมชาติ จะมี 2 ตลาด คือ ตลาดเพื่อความมั่นคง ที่ บมจ.ปตท.ดูแล มีสัญญากับโรงไฟฟ้าต่างๆชัดเจน และ ตลาดเสรี ที่เป็นโรงไฟฟ้าที่หมดอายุสัญญาก๊าซกับ ปตท. และโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งในส่วนตลาดเสรี ในขณะนี้มีผู้ได้ใบอนุญาตชิปเปอร์ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ,กัลฟ์ ,บีกริม และโรงไฟฟ้าหินกอง.-สำนักข่าวไทย