กรุงเทพฯ 20 ก.ค. – จับตากระทรวงคมนาคมเรียกผู้บริหารการรถไฟฯ ถกปมสายสีแดง เปิดบริการเมื่อไหร่ เริ่มกระบวนการ PPP อย่างไร และจับตาโรดแมปคมนาคม คมนาคมเดินหน้าลงทุนระบบรางเต็มสูบหลังสถานการณ์โควิค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีกำหนดการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมการขนส่งทางราง หารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ- รังสิต และตลิ่งชัน- บางซื่อ หลังนายศักดิ์สยาม ยืนยันถึงความจำเป็นต้องใช้แนวทางหาเอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP การเดินรถนั้น เพื่อลดภาระแก่งบประมาณและการสร้างหนี้สาธารณะ หลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งประเทศไทยมีภาระต้องใช้จ่ายงบประมาณเรื่องการเยียวยาฟื้นฟูจำนวนมาก
ขณะที่กำหนดการเปิดให้บริการนั้น จากไทม์ไลน์ของกรมการขนส่งทางรางยังมีความมั่นใจว่าโครงการจะเสร็จเริ่มทดลองเปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2564 และเปิดอย่างเป็นทางการในปีถัดไป
นายนิรุต มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การขยายสัญญาก่อสร้างให้ผู้รับเหมา โดยข้อมูลที่ถูกต้องขณะนี้บอร์ด รฟท.มีการขยายระยะเวลาให้เอกชนผู้รับเหมางานก่อสร้าง จากผลกระทบความล่าช้าในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคในอดีตเพียง 87 วันเท่านั้น จากที่ขอมา 512 วัน ส่วนประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้องขอขยายเวลาเรื่องอื่น ๆ จะต้องพิจารณาเป็นงาน ๆ ไป ส่วนประเด็นที่มีรายงานข่าวออกมาระบุว่าโครงการจะล่าช้า ต้องเปิดปี 2566 ยอมรับว่าไม่ทราบว่าข้อมูลนี้มาจากไหน
ส่วนประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต้องใช้แนวทาง PPP นั้น ยอมรับว่าปัจจุบันการรถไฟฯ มีภาระลงทุนจำนวนมาก การใช้วิธีดังกล่าวจะช่วยลดภาระการลงทุนและก่อหนี้ของการรถไฟได้มาก ส่วนกรอบระยะเวลาที่เริ่มกระบวนการการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนจะใช้ระยะเวลานานนั้น เป็นประเด็นที่ต้องมาจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน การรถไฟฯ ยังไม่สามารถทราบระยะเวลาที่ชัดเจนได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภาพการลงทุนขับเคลื่อนระบบรางนั้น หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และนายศักดิ์สยาม มีนโยบายที่จะขับเคลื่อนการลงทุนระบบรางอย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและใช้ระบบรางลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนในอนาคต
ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลความคืบหน้าการลงทุนระบบรางในกลุ่มต่าง ๆ จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง ล่าสุดโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนรถไฟฟ้าภายในเมืองขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 8 โครงการระยะทางรวม 167.74 กม. ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งช่วงบางซื่อรังสิตระยะทาง 26.3 กิโลเมตรและสายสีแดงอ่อนบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.16 กิโลเมตร ทั้ง 2 โครงการจะเปิดให้บริการปลายปี 2564
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงวัดพระศรีมหาธาตุและคูคตระยะทาง 9.50 กิโลเมตร กำหนดการเปิดให้บริการปี 2563, รถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี- คลองสานระยะทาง 1.88 กม. เปิดให้บริการปี 2563 ,รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย – มีนบุรี ระยะทาง 37.50 กิโลเมตร, รถไฟฟ้าสายสีเหลืองลาดพร้าว- สำโรง 33 กิโลเมตร ทั้ง 2 โครงการมีกำหนดการเปิดให้บริการปี 2565, รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม- มีนบุรี 22.50 กิโลเมตร มีกำหนดการเปิดให้บริการปี 2567 และรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 21 กิโลเมตร มีกำหนดการเปิดให้บริการปี 2570
โดยตามข้อมูลของกรมรางในอนาคตพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลจะมีรถไฟฟ้ารวม 14 สายทาง ระยะทาง 553.41 กิโลเมตร ประกอบด้วย 367 สถานี เป็นรัศมีระยะ 20 กิโลเมตรจากชั้นในของเมือง ครอบคลุมพื้นที่ 1,600 ตารางกิโลเมตร .-สำนักข่าวไทย