กกต. 9 ก.ค.-“เรืองไกร” ร้อง กกต.เอาผิด พปชร. หลังใช้มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เชิญ “พล.อ.ประวิตร” นั่งหัวหน้าพรรค ถือว่าเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง เหมือนเช่นที่ กกต.ยุบพรรคไทยรักษาชาติ-อนาคตใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ก.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.ยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยแกนนำพรรค ไปเทียบเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ให้มาเป็นหัวหน้า พปชร. อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรค 1 (2) โดยได้เทียบเคียงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งศาลมองว่าเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เนื่องจากข้อห้ามของมูลนิธิฯ ข้อ 2.7 กำหนดว่าห้ามใช้มูลนิธินี้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งต่อมานายไพบูลย์ ระบุว่าได้ไปเทียบเชิญ พล.อ.ประวิตร ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดจริง โดยได้มีการโชว์ภาพตามที่ปรากฏในสื่อเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 และได้มีการเลือก พล.อ.ประวิตร ให้เป็นหัวหน้าพรรค พปชร. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 ถือเป็นความผิดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้มูลนิธิฯ จึงมาร้อง กกต.ให้วินิจฉัยกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) ว่าเป็นการกระทำอาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่
“มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งข้อ 2.7 ยังอยู่ และนักการเมืองจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายนั้นไม่ได้ เพราะแต่ละคนทำไมไม่ไปทำเนียบรัฐบาล หรือที่ทำการใหม่ของพรรค แต่นี่กลับไปใช้พื้นที่ของมูลนิธิฯ การเข้า-ออกอยู่ดี ๆ คงไม่มีใครขับรถเข้าไปได้เลย จะต้องมีการนัดหมาย นั้นแสดงว่ามีเจตนา แต่เจตนาท่านอาจจะรีบ รีบจนลืมข้อกฎหมาย” นายเรืองไกร กล่าว
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องของเจตนานั้น ได้บัญญัติชัดเจนว่า “เพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องห้ามแล้ว หากจำเป็น ต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือต้องรอให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงขึ้นจริงเสียก่อนหรือไม่ อีกทั้งคำว่าอาจเป็นปฏิปักษ์ในทางกฎหมายเป็นเงื่อนไขทางภาวะวิสัย ไม่ขึ้นกับเจตนา หรือความรู้สึกส่วนตัวของผู้กระทำว่าจะเกิดผลเป็นปฏิปักษ์จริงหรือไม่ หากแต่ต้องดูตามพฤติการณ์แห่งการกระทำนั้น ๆ ว่าในความคิดของวิญญูชนคนทั่ว ๆ ไปรับรู้ได้“ ซึ่งตนเห็นว่ากรณีนี้ อาจเป็นปฏิปักษ์โดยชัดเจน แต่แปลกใจที่ กกต.เพิกเฉย ต่างจากกรณีการดำเนินการยุบพรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่ ตนจึงยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมกับกรณี พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา ส.ว.ที่เข้ามาแทรกแทรงพรรคการเมือง ล็อบบี้กรรมการบริหารพรรคให้ลาออก ซึ่งได้ยื่นเรื่องไปก่อนหน้านี้ แต่ กกต.ยังไม่เรียกมาให้ถ้อยคำ
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม หาก กกต.พบว่ามีความผิด ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรค เหมือนกรณีพรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่ ก็จะส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการในขณะนั้นมีความผิด ส่วน พล.อ.ประวิตร ที่ในขณะนั้นยังไม่มีสถานะ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย
นายเรืองไกร กล่าวถึงกรณีที่นายไพบูลย์ ระบุว่าจะฟ้องกลับ ว่า จะฟ้อง ก็ยินดี เพราะหลักฐานที่นำมายื่นต่อ กกต. ก็นำมาจาก พปชร. เชื่อว่า กกต.จะใช้เวลาไม่นาน เพราะภาพหลักฐานก็ปรากฏตามสื่ออยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย